ReutersReuters

วิเคราะห์ผลกระทบที่ตลาดทั่วโลกอาจได้รับจากความขัดแย้งในตอ.กลาง

ลอนดอน--22 เม.ย.--รอยเตอร์

  • ข่าวที่ว่าอิสราเอลได้โจมตีอิหร่านในวันศุกร์ที่ผ่านมาส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่า ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางอาจจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และปัจจัยดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ทั่วโลก โดยข่าวดังกล่าวส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้น 3.64 ดอลลาร์ หรือ 4.18% ในระหว่างช่วงการซื้อขายวันศุกร์ โดยเบรนท์พุ่งขึ้นจาก 87.11 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี สู่ 90.75 ดอลลาร์ในระหว่างช่วงการซื้อขายวันศุกร์ ก่อนจะลดช่วงบวกลงสู่ 87.29 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันศุกร์ หลังจากรัฐบาลอิหร่านส่งสัญญาณว่า อิหร่านไม่มีแผนที่จะตอบโต้อิสราเอล และอิหร่านไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทั้งนี้ ดัชนี S&P 500 ของตลาดหุ้นสหรัฐปิดร่วงลง 0.88% สู่ 4,967.23 ในวันศุกร์ ในขณะที่ราคาพันธบัตรรัฐบาลซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยพุ่งสูงขึ้น

  • นักวิเคราะห์ได้ระบุถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ถ้าหากความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยผลกระทบแรกคือการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทะยานขึ้นมาแล้วราว 13% จากช่วงต้นปีนี้ และอยู่ที่ 87.18 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในวันนี้ ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุในวันที่ 16 เม.ย.ว่า อาจจะเกิด "สถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์" ขึ้นในอนาคต ซึ่งได้แก่สถานการณ์ที่ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น 15% และค่าขนส่งสินค้าทะยานขึ้น และปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลบวกราว 0.7% ต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วโลก ทางด้านธนาคารมอร์แกน สแตนเลย์ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ประจำไตรมาส 3 ขึ้นจากเดิม 4 ดอลลาร์ สู่ 94 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงนี้

  • ผลกระทบที่ 2 คือการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ เพราะว่าการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นตามไปด้วย และปัจจัยดังกล่าวอาจจะเป็นอุปสรรคขัดขวางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก ทั้งนี้ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ระบุว่า อีซีบีให้ความสนใจเป็นอย่างมากต่อผลกระทบจากราคาน้ำมัน เพราะว่าราคาน้ำมันอาจจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นและอาจจะสร้างความเสียหายต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทางด้านมาตรวัดการคาดการณ์เงินเฟ้อยูโรโซนระยะยาวเพิ่งพุ่งขึ้นแตะ 2.39% ในวันที่ 16 เม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2023 ก่อนจะปรับลงสู่ 2.35% เมื่อวานนี้

  • ผลกระทบที่ 3 คือการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังจากการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันช่วยหนุนหุ้นกลุ่มพลังงานเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยดัชนีหุ้นกลุ่มน้ำมันของสหรัฐและดัชนีหุ้นกลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของยุโรปต่างก็ทะยานขึ้นแตะสถิติสูงสุดตลอดกาลในเดือนนี้ และดัชนีหุ้นกลุ่มน้ำมันของสหรัฐก็ทะยานขึ้นมาแล้วเกือบ 12% จากช่วงต้นปีนี้ด้วย ในขณะที่ดัชนี S&P 500 ของตลาดหุ้นสหรัฐปรับขึ้นเพียง 5% จากช่วงต้นปีนี้ ทั้งนี้ นายเอ็ด ยาร์เดนี ผู้ก่อตั้งบริษัทยาร์เดนี รีเสิร์ชกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะพุ่งขึ้นสู่ 100 ดอลลาร์ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ส่วนนายโธมัส แมคแกร์ริที หัวหน้าฝ่ายหุ้นของบริษัทอาร์บีซี เวลธ์ แมเนจเมนท์ระบุว่า "การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันสร้างความยุ่งยากให้แก่ธนาคารกลาง ในขณะที่ธนาคารกลางพยายามจะปรับลดอัตราเงินเฟ้อลงสู่ระดับเป้าหมาย" และระบุเสริมว่า "การลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานอาจจะถือเป็นการทำประกันความเสี่ยงอย่างดีที่สุดต่อทั้งความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและความเสี่ยงด้านความขัดแย้งทางการเมืองสำหรับพอร์ตลงทุนในหุ้นในระยะใกล้"

  • ผลกระทบที่ 4 คือการกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งรวมถึงพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนี โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปี ซึ่งปรับตัวสวนทางกับราคาพันธบัตร ดิ่งลงจาก 4.647% ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี สู่ 4.615% ในช่วงท้ายวันศุกร์ และออกห่างจากจุดสูงสุดรอบ 5 เดือนที่ 4.696% ที่ทำไว้ในวันที่ 16 เม.ย. นอกจากนี้ นักลงทุนก็เข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐและฟรังก์สวิสในฐานะสกุลเงินปลอดภัยด้วย ทั้งนี้ นายฟรานเซสโก เปโซเล นักวิเคราะห์สกุลเงินของบริษัท ING ระบุว่า ถ้าหากความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ฟรังก์สวิสก็อาจจะทะยานขึ้นต่อไป แต่นักลงทุนจะลดความต้องการซื้อสินทรัพย์เสี่ยง และปัจจัยนี้อาจจะส่งผลให้ดอลลาร์นิวซีแลนด์, ดอลลาร์ออสเตรเลีย, โครนาสวีเดน และโครนนอร์เวย์ดิ่งลง

  • ผลกระทบที่ 5 คือการสร้างความเสียหายต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะอินเดียกับตุรกีที่เป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ โดยรูปีของอินเดียเพิ่งดิ่งลงแตะสถิติต่ำสุดใหม่ที่ 83.739 รูปีต่อดอลลาร์ในวันที่ 17 เม.ย. ก่อนจะแข็งค่าขึ้นสู่ 83.270 รูปีต่อดอลลาร์ในวันนี้ ทั้งนี้ นายเปโซเลกล่าวว่า "ถ้าหากราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเหนือระดับ 100 ดอลลาร์ ปัจจัยดังกล่าวก็อาจจะส่งผลให้เฟดยุติแผนการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และนักลงทุนก็จะเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐเป็นจำนวนมาก เพราะนักลงทุนกังวลว่าความเสี่ยงจากความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางอาจจะส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อสกุลเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่"--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้