ReutersReuters

MORNING BRIEF:สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ

กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--รอยเตอร์

  • ดอลลาร์สหรัฐปรับขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 34 ปีเมื่อเทียบกับเยนท่ามกลางบรรยากาศการซื้อขายที่สงบเงียบในวันจันทร์ ในขณะที่ดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากจุดยืนของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงเป็นเวลานาน อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงจับตาดูว่า ทางการญี่ปุ่นจะเข้ามาแทรกแซงตลาดเพื่อหนุนค่าเงินเยนหรือไม่ โดยนักลงทุนมองว่าการแทรกแซงตลาดอาจจะเกิดขึ้นเมื่อดอลลาร์พุ่งขึ้นแตะระดับ 155 เยน ทั้งนี้ นักลงทุนตั้งข้อสังเกตว่า ทางการญี่ปุ่นยังไม่ได้เข้ามาแทรกแซงในตลาดปริวรรตเงินตราในปีนี้ ถึงแม้เยนดิ่งลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 34 ปีไปแล้วหลายครั้งในปีนี้ โดยนายแคลวิน เซียะ จากธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์กล่าวว่า "ผมคิดว่ากระทรวงการคลังญี่ปุ่นยอมรับแล้วว่า ปัจจัยพื้นฐานของสกุลเงินปรับตัวไปในทิศทางที่ผิดพลาด ซึ่งก็คือการที่ดอลลาร์/เยนแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เพราะว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ผมคิดว่ากระทรวงการคลังญี่ปุ่นไม่ต้องการที่จะขัดขวางสิ่งนี้ อย่างไรก็ดี ถ้าหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ของสหรัฐเริ่มร่วงลง สถานการณ์ดังกล่าวก็อาจจะส่งผลให้กระทรวงการคลังญี่ปุ่นมองเห็นโอกาสในการแทรกแซงตลาด หรือถ้าหากจะให้สรุปก็คือว่า ผมไม่คิดว่าญี่ปุ่นจะเข้ามาแทรกแซงตลาด ตราบใดที่ดอลลาร์/เยนแข็งค่าขึ้นตามบอนด์ยิลด์สหรัฐ" Eikon source text

    ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 106.12 ในช่วงท้ายตลาดวันจันทร์ ซึ่งเท่ากับระดับในช่วงท้ายตลาดวันศุกร์ หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 106.51 ในวันที่ 16 เม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2023 หรือจุดสูงสุดรอบ 5 เดือนครึ่ง

    ดอลลาร์/เยนอยู่ที่ 154.84 เยนในช่วงท้ายตลาดวันจันทร์ โดยแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดวันศุกร์ที่ 154.63 เยน หลังจากปรับขึ้นแตะ 154.86 เยนในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่กลางปี 1990 หรือจุดสูงสุดรอบ 34 ปี

    ยูโร/ดอลลาร์อยู่ที่ 1.0654 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันจันทร์ ซึ่งเท่ากับระดับในช่วงท้ายวันศุกร์ หลังจากร่วงลงแตะ 1.0599 ดอลลาร์ในวันที่ 16 เม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย. 2023 หรือจุดต่ำสุดรอบ 5 เดือนครึ่ง

  • ตลาดหุ้นสหรัฐปิดบวกขึ้นในวันจันทร์ หลังจากดัชนี S&P 500 กับดัชนี Nasdaq ของตลาดหุ้นสหรัฐเพิ่งปิดตลาดในแดนลบมานานติดต่อกัน 6 วัน โดยได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนปรับลดการคาดการณ์เรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วงนั้น โดยนักลงทุนบางรายมองว่าการดีดขึ้นของตลาดหุ้นในวันจันทร์เกิดจากการเข้าช้อนซื้อเก็งกำไร หลังจากตลาดหุ้นเพิ่งดิ่งลงอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา และนักลงทุนก็รอดูผลประกอบการของบริษัทสำคัญหลายแห่งในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงบริษัทเทสลาที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่จะรายงานผลประกอบการออกมาในวันที่ 23 เม.ย., บริษัทเมตา แพลตฟอร์มส์ที่จะรายงานออกมาในวันที่ 24 เม.ย. และบริษัทไมโครซอฟท์กับบริษัทแอลฟาเบทที่จะรายงานผลประกอบการออกมาในวันที่ 25 เม.ย. โดยบริษัททั้ง 4 แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทกลุ่ม "Magnificent 7" หรือบริษัทขนาดยักษ์ 7 แห่งของสหรัฐ ทั้งนี้ หุ้นทั้ง 11 กลุ่มใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐปิดตลาดในแดนบวกในวันจันทร์ โดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีกับหุ้นกลุ่มการเงินถือเป็นหุ้น 2 กลุ่มที่พุ่งขึ้นมากที่สุด ทางด้านหุ้นบริษัทขนาดยักษ์ทะยานขึ้นด้วยเช่นกัน โดยหุ้นบริษัทแอลฟาเบท, อะเมซอนดอทคอม และแอปเปิลพุ่งขึ้น 0.5-1.5% และหุ้นเอ็นวิเดียทะยานขึ้น 4.4% ในวันจันทร์ หลังจากหุ้นเอ็นวิเดียเพิ่งดิ่งลง 10% ในวันศุกร์ โดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของเอ็นวิเดียดิ่งลงมาแล้วราว 4.70 แสนล้านดอลลาร์นับตั้งแต่เดือนมี.ค. อย่างไรก็ดี หุ้นเทสลารูดลง 3.4% ในวันจันทร์ ในขณะที่เทสลาปรับลดราคารถยนต์ไฟฟ้าในตลาดสำคัญหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงในจีน, เยอรมนี และสหรัฐ Eikon source text

    ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดบวกขึ้น 0.67% สู่ 38,239.98

    ดัชนี S&P 500 ปิดบวกขึ้น 0.87% สู่ 5,010.60

    ดัชนี Nasdaq ปิดพุ่งขึ้น 1.11% สู่ 15,451.31

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX ปรับลดลงในวันจันทร์ ในขณะที่เทรดเดอร์มุ่งความสนใจไปยังปัจจัยพื้นฐานของตลาด และมองว่าแทบไม่มีความเสี่ยงในระยะใกล้ที่ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมัน ทางด้านนายฟิล ฟลินน์ จากบริษัทไพรซ์ ฟิวเจอร์ส กรุ๊ปกล่าวว่า เทรดเดอร์มองว่าดุลระหว่างอุปสงค์กับอุปทานน้ำมันจะตึงตัวมากยิ่งขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า และเขากล่าวเสริมว่า "น้ำมันมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และมีการคาดการณ์กันว่าอุปทานน้ำมันจะตึงตัวมากยิ่งขึ้นในฤดูร้อน" ทั้งนี้ นายทามาส วาการ์ จากบริษัท PVM กล่าวว่า ราคาน้ำมันอาจจะพุ่งขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ถ้าหากมีการปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งถือเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันที่สำคัญที่สุดในโลก หรือถ้าหากซาอุดิอาระเบียเข้าร่วมในความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย อย่างไรก็ดี นายโจวานนี สเตาโนโว นักยุทธศาสตร์การลงทุนของธนาคารยูบีเอสระบุว่า ประเทศผู้ผลิตน้ำมันบางประเทศมีกำลังการผลิตน้ำมันส่วนเกินอยู่ในระดับสูง และสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ถ้าหากเกิดภาวะอุปทานน้ำมันขาดตอนใด ๆ ในอนาคต Eikon source text

    ราคาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนพ.ค.ปรับลดลง 29 เซนต์ หรือ 0.35% มาปิดตลาดที่ 82.85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยสัญญาเดือนพ.ค.ครบกำหนดส่งมอบในช่วงปิดตลาดวันจันทร์

    ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมิ.ย.ที่ตลาดกรุงลอนดอนปรับลดลง 29 เซนต์ หรือ 0.33% มาปิดตลาดที่ 87.00 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

  • ราคาทองสปอตที่ตลาดสหรัฐดิ่งลง 64.16 ดอลลาร์ หรือ 2.68% สู่ 2,326.29 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงท้ายตลาดวันจันทร์ ซึ่งถือเป็นการดิ่งลงรายวันครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 1 ปี และราคาทองได้รูดลงแตะ 2,325.09 ดอลลาร์ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดรอบ 1 สัปดาห์ด้วย ในขณะที่นักลงทุนลดความกังวลที่มีต่อความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง และปัจจัยดังกล่าวก็ส่งผลให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างเช่นทอง และกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง อย่างเช่นหุ้น โดยก่อนหน้านี้ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศและคำสั่งซื้อทองของธนาคารกลางเคยช่วยหนุนราคาทองให้พุ่งขึ้นแตะสถิติสูงสุดที่ 2,431.29 ดอลลาร์ในวันที่ 12 เม.ย. ทั้งนี้ นายแดเนียล แกลี นักยุทธศาสตร์การลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์ของบล.ทีดีกล่าวว่า "ราคาทองอาจจะพุ่งขึ้นแตะสถิติสูงสุดได้อีกครั้ง ถ้าหากรัฐบาลสหรัฐรายงานตัวเลขดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่แสดงให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐชะลอตัวลงในวันศุกร์นี้ และเราก็คาดว่าคำสั่งซื้อทองในเอเชียจะยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งต่อไป เพราะนักลงทุนมองว่าทองเป็นเครื่องมือในการทำประกันความเสี่ยงต่อค่าเงินในเอเชีย" Eikon source text

--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้