ReutersReuters

ตลาดเงินนิวยอร์ค:ดอลล์/เยนปรับขึ้นแตะจุดสูงสุด 34 ปี

นิวยอร์ค--23 เม.ย.--รอยเตอร์

  • ดอลลาร์สหรัฐปรับขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 34 ปีเมื่อเทียบกับเยนท่ามกลางบรรยากาศการซื้อขายที่สงบเงียบในวันจันทร์ ในขณะที่ดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากจุดยืนของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงเป็นเวลานาน อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงจับตาดูว่า ทางการญี่ปุ่นจะเข้ามาแทรกแซงตลาดเพื่อหนุนค่าเงินเยนหรือไม่ โดยนักลงทุนมองว่าการแทรกแซงตลาดอาจจะเกิดขึ้นเมื่อดอลลาร์พุ่งขึ้นแตะระดับ 155 เยน ทั้งนี้ นักลงทุนตั้งข้อสังเกตว่า ทางการญี่ปุ่นยังไม่ได้เข้ามาแทรกแซงในตลาดปริวรรตเงินตราในปีนี้ ถึงแม้เยนดิ่งลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 34 ปีไปแล้วหลายครั้งในปีนี้ โดยนายแคลวิน เซียะ จากธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์กล่าวว่า "ผมคิดว่ากระทรวงการคลังญี่ปุ่นยอมรับแล้วว่า ปัจจัยพื้นฐานของสกุลเงินปรับตัวไปในทิศทางที่ผิดพลาด ซึ่งก็คือการที่ดอลลาร์/เยนแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เพราะว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ผมคิดว่ากระทรวงการคลังญี่ปุ่นไม่ต้องการที่จะขัดขวางสิ่งนี้ อย่างไรก็ดี ถ้าหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ของสหรัฐเริ่มร่วงลง สถานการณ์ดังกล่าวก็อาจจะส่งผลให้กระทรวงการคลังญี่ปุ่นมองเห็นโอกาสในการแทรกแซงตลาด หรือถ้าหากจะให้สรุปก็คือว่า ผมไม่คิดว่าญี่ปุ่นจะเข้ามาแทรกแซงตลาด ตราบใดที่ดอลลาร์/เยนแข็งค่าขึ้นตามบอนด์ยิลด์สหรัฐ"

  • ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 106.12 ในช่วงท้ายตลาดวันจันทร์ ซึ่งเท่ากับระดับในช่วงท้ายตลาดวันศุกร์ หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 106.51 ในวันที่ 16 เม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2023 หรือจุดสูงสุดรอบ 5 เดือนครึ่ง

    ดอลลาร์/เยนอยู่ที่ 154.84 เยนในช่วงท้ายตลาดวันจันทร์ โดยแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดวันศุกร์ที่ 154.63 เยน หลังจากปรับขึ้นแตะ 154.86 เยนในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่กลางปี 1990 หรือจุดสูงสุดรอบ 34 ปี

    ยูโร/ดอลลาร์อยู่ที่ 1.0654 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันจันทร์ ซึ่งเท่ากับระดับในช่วงท้ายวันศุกร์ หลังจากร่วงลงแตะ 1.0599 ดอลลาร์ในวันที่ 16 เม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย. 2023 หรือจุดต่ำสุดรอบ 5 เดือนครึ่ง

  • ระดับความผันผวนในตลาดปริวรรตเงินตราลดลงในวันจันทร์ตามความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ในขณะที่รัฐบาลอิหร่านไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักต่อการที่อิสราเอลใช้โดรนโจมตีอิหร่านในวันศุกร์ที่แล้ว โดยก่อนหน้านี้ดัชนีความผันผวนของสกุลเงินที่จัดทำโดยธนาคารดอยช์ แบงก์ เพิ่งพุ่งขึ้นแตะ 7.33 ในวันที่ 17 เม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. และดัชนีเพิ่งปิดตลาดสัปดาห์ที่แล้วด้วยการทะยานขึ้น 9.7% จากสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ซึ่งถือเป็นการพุ่งขึ้นรายสัปดาห์ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2023 อย่างไรก็ดี ดัชนีความผันผวนดิ่งลงแตะ 6.78 ในวันจันทร์

  • นักลงทุนรอดูผลการประชุมกำหนดนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ในวันที่ 25-26 เม.ย., รอดูตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาสแรกของสหรัฐที่จะได้รับการรายงานออกมาในวันพฤหัสบดี และรอดูดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่รัฐบาลสหรัฐจะรายงานออกมาในวันศุกร์ที่ 26 เม.ย. โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มักใช้ดัชนี PCE เป็นมาตรวัดภาวะเงินเฟ้อ ทั้งนี้ โพลล์รอยเตอร์คาดว่า ดัชนี PCE ทั่วไปอาจปรับขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากปรับขึ้น 0.3% ในเดือนก.พ.เมื่อเทียบรายเดือน และคาดว่าดัชนี PCE ทั่วไปอาจปรับขึ้น 2.6% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับขึ้น 2.5% ในเดือนก.พ.เมื่อเทียบรายปี

  • บล.ทีดีระบุในเอกสารวิจัยว่า "ถ้าหากสหรัฐรายงานตัวเลขเงินเฟ้อที่ระดับสูง สิ่งนี้ก็จะสร้างความยากลำบากให้แก่เฟด เพราะเฟดจะเริ่มหมดโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงก่อนที่สหรัฐจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพ.ย." และบล.ทีดียังระบุอีกด้วยว่า อัตราเงินเฟ้อที่ระดับสูงและการที่นักลงทุนหลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยง ถือเป็นสองปัจจัยที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ทั้งนี้ บล.ทีดีระบุว่า "ถ้าหากนายทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ตลาดก็จะปรับตัวรับการคาดการณ์เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้า เพราะว่ามาตรการด้านภาษีศุลกากรและมาตรการปรับลดภาษีนิติบุคคลของนายทรัมป์จะกระตุ้นภาวะเงินเฟ้อ" --จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้