ReutersReuters

JAPAN:IMF ชี้บีโอเจควรใช้ความระมัดระวังในการปรับขึ้นอัตราดบ.

วอชิงตัน--22 เม.ย.--รอยเตอร์

  • นาดา ชูเอริ หัวหน้าคณะผู้แทนด้านญี่ปุ่นของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวในวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า บีโอเจจำเป็นจะต้องใช้ความระมัดระวังในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะว่าสัญญาณบ่งชี้บางอันสำหรับการคาดการณ์เงินเฟ้อในตลาดญี่ปุ่นยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่บีโอเจตั้งไว้ที่ 2% ถึงแม้มีสัญญาณบ่งชี้ว่า การคาดการณ์เงินเฟ้อของภาคเอกชนและภาคครัวเรือนกำลังถูกยึดโยงไว้ที่ระดับราว 2% ก็ตาม โดยเธอกล่าวเสริมว่า "สิ่งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่บีโอเจจะต้องใช้ความระมัดระวัง เหมือนอย่างที่บีโอเจได้ชี้แจงไว้แล้ว และเราก็คิดว่าบีโอเจสมควรจะใช้ความระมัดระวัง" ทั้งนี้ ชูเอริได้ให้สัมภาษณ์ต่อรอยเตอร์ในระหว่างการประชุมประจำฤดูใบไม้ผลิของไอเอ็มเอฟกับธนาคารโลกที่กรุงวอชิงตัน โดยเธอกล่าวว่า การอ่อนค่าของเยนส่งผลบวกสุทธิต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และเธอส่งสัญญาณว่าไอเอ็มเอฟต้องการให้ญี่ปุ่นปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวอย่างยืดหยุ่น

  • เมื่อรอยเตอร์ตั้งคำถามว่า การดิ่งลงอย่างรุนแรงของเยนในระยะนี้ถือเป็นเหตุผลอันเหมาะสมที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะนำมาใช้ในการแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราหรือไม่ ชูเอริก็ตอบคำถามนี้ว่า "เรายังคงเชื่อว่า อัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นได้ช่วยรองรับเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างดีในช่วงที่ผ่านมา และดิฉันก็มีความเชื่ออย่างหนักแน่นว่า ทุกประเทศสมาชิกในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 หรือจี-7 ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่น ต่างก็มีภาระผูกพันต่อระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น และมองเห็นความสำคัญของอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น" ทั้งนี้ ถึงแม้การอ่อนค่าของเยนช่วยหนุนยอดส่งออกของญี่ปุ่น การอ่อนค่าของเยนก็ส่งผลให้ราคานำเข้าเชื้อเพลิงและอาหารพุ่งสูงขึ้น และสิ่งนี้สร้างความเสียหายต่อการบริโภคในญี่ปุ่น และสร้างความยุ่งยากให้แก่ผู้กำหนดนโยบายของญี่ปุ่น ทางด้านดอลลาร์/เยนขยับขึ้น 0.06% สู่ 154.72 เยนในวันนี้ หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 154.79 เยนในวันที่ 16 เม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดรอบ 34 ปี หรือจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1990 โดยดอลลาร์/เยนพุ่งขึ้นมาแล้ว 9.69% จากช่วงต้นปีนี้

  • ชูเอริกล่าวว่า การบริโภคของญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะทวีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากการปรับขึ้นค่าแรง "อย่างแข็งแกร่งมาก" และการปรับขึ้นค่าแรงแบบนี้มีแนวโน้มที่จะขยายวงกว้างออกไปสู่บริษัทขนาดเล็กของญี่ปุ่นด้วย โดยเธอกล่าวเสริมว่า "เรามีความเชื่อมั่นเป็นอย่างมากในการคาดการณ์ของเราที่มีต่อการฟื้นตัวทางการบริโภค" และเธอคาดว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะบรรลุระดับเป้าหมายที่ 2% ได้อย่างยั่งยืนในปี 2026 ทั้งนี้ เธอกล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้บีโอเจมีโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่กำหนดเวลาและจังหวะความเร็วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจในอนาคต ในขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ซึ่งรวมถึงผลกระทบที่ภาคส่งออกของญี่ปุ่นได้รับจากการแบ่งขั้วของประเทศต่าง ๆ และจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ และระดับการบริโภคภายในญี่ปุ่นที่มีความไม่แน่นอน

  • ชูเอริกล่าวว่า "เราเห็นด้วยอย่างเต็มที่ต่อการที่บีโอเจจะปรับนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป และต่อการที่บีโอเจจะวิเคราะห์ตัวเลขเศรษฐกิจที่ได้รับการรายงานออกมา" และเธอกล่าวเสริมว่า "ดิฉันคิดว่า การดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก" เพราะว่าความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและต่อภาวะเงินเฟ้ออยู่ในภาวะสมดุล

  • บีโอเจเพิ่งยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ใช้มานาน 8 ปีในการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 18-19 มี.ค. ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ราว 2 ใน 3 ของโพลล์รอยเตอร์คาดว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ แต่นักเศรษฐศาสตร์แสดงความเห็นแตกต่างกันไปต่อประเด็นที่ว่า บีโอเจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งเมื่อใด ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ทุกรายในโพลล์รอยเตอร์คาดการณ์ตรงกันว่า บีโอเจจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนสิ้นเดือนมิ.ย. แต่นักเศรษฐศาสตร์ 21 จาก 61 ราย หรือ 34% ของโพลล์คาดว่า บีโอเจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ 0.20% หรือ 0.25% ในไตรมาสเดือนก.ค.-ก.ย. และนักเศรษฐศาสตร์ 17 จาก 55 ราย หรือ 31% ของโพลล์คาดว่า บีโอเจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ 0.20% หรือ 0.25% ในไตรมาสเดือนต.ค.-ธ.ค.--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้