ReutersReuters

JAPAN:ปัจจัยการเมืองกระตุ้นให้ญี่ปุ่น,เกาหลีใต้ร่วมมือกันเรื่องค่าเงิน

วอชิงตัน--22 เม.ย.--รอยเตอร์

  • ผู้นำทางการเงินของสหรัฐ, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ตกลงกันว่าจะ "ปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิด" ในเรื่องตลาดปริวรรตเงินตราในการประชุมแบบไตรภาคีของผู้นำทางการเงินของทั้งสามประเทศนี้ในวันพุธที่ 17 เม.ย. และแถลงการณ์ของพวกเขาก็บ่งชี้ถึง "ความกังวลอย่างรุนแรง" ของรัฐบาลญี่ปุ่นกับรัฐบาลเกาหลีใต้ที่มีต่อการดิ่งลงอย่างรุนแรงของเยนกับวอนในช่วงนี้ ทั้งนี้ แลถงการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการทำให้สหรัฐยอมให้ทั้งสองประเทศนี้แสดงความกังวลต่อค่าเงินเยนกับค่าเงินวอนในแถลงการณ์ร่วมกัน ในขณะที่สหรัฐมองว่าสิ่งนี้จะช่วยลดความกังวลของญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ โดยแลกกับการที่ทั้งสองประเทศนี้จะให้ความร่วมมือกับสหรัฐในการจำกัดอิทธิพลของจีน นอกจากนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นอีกด้วยว่า ความอ่อนแอของเยนกับวอนส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้อยู่ในระดับสูง และสิ่งนี้ก่อให้เกิดแรงกดดันทางการเมืองในสองประเทศนี้

  • ปัญหานี้ถือเป็นปัญหาเร่งด่วนในช่วงนี้ เนื่องจากความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางอาจจะส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้ต้นทุนในญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ทะยานสูงขึ้น และจะสร้างความเสียหายทางการเมืองต่อรัฐบาลญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินพุ่งขึ้นมาแล้วราว 4.7% จากช่วงต้นปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากการที่นักลงทุนปรับลดการคาดการณ์เรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคากลางสหรัฐ (เฟด) แต่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับเยนและวอน โดยดอลลาร์/เยนพุ่งขึ้นมาแล้ว 9.66% จากช่วงต้นปีนี้ สู่ 154.68 เยนในวันนี้ หลังจากเพิ่งทะยานขึ้นแตะ 154.79 เยนในวันอังคารที่ 16 เม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดรอบ 34 ปี หรือจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1990 ส่วนดอลลาร์/วอนทะยานขึ้นมาแล้วราว 6.4% จากช่วงต้นปีนี้

  • หลังจากผู้นำทางการเงินของทั้ง 3 ประเทศออกแถลงการณ์ดังกล่าวในวันพุธที่ 17 เม.ย. เยนก็ดีดขึ้นในวันนั้น ในขณะที่นักลงทุนปรับตัวรับความเสี่ยงในการแทรกแซงตลาด และเทรดเดอร์บางรายมองว่ามีความเป็นไปได้ที่ประเทศต่าง ๆ จะร่วมมือกันดำเนินมาตรการเหมือนกับ "ข้อตกลงพลาซา" ในปี 1985 ส่วนวอนได้เข้าสู่เสถียรภาพด้วยเช่นกัน โดยนายอัตสึชิ ทาเคอุชิ อดีตเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวว่า "การที่แถลงการณ์ดังกล่าวใช้ถ้อยคำที่แข็งแกร่งถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ และตอกย้ำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่าง 3 ประเทศนี้" และเขากล่าวเสริมว่า "เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐยอมรับความกังวลของญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลสหรัฐจะไม่ขัดขวาง ถ้าหากรัฐบาลญี่ปุ่นหรือรัฐบาลเกาหลีใต้เข้ามาแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา" ทั้งนี้ การประชุมทางการเงินในสัปดาห์ที่แล้วได้หารือถึงประเด็นอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน โดยรัฐมนตรีคลังของทั้งสามประเทศนี้ประกาศว่าจะร่วมมือกันในการต่อต้าน "การข่มขู่ทางการเงินและกำลังการผลิตที่ล้นเกินในภาคเศรษฐกิจสำคัญ" ในประเทศอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นการประกาศเตือนรัฐบาลจีนในทางอ้อม

  • ตลาดการเงินให้ความสนใจมากเป็นพิเศษต่อประเด็นเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนในแถลงการณ์วันที่ 17 เม.ย. และสิ่งนี้ถือเป็นชัยชนะทางการเมืองสำหรับรัฐบาลญี่ปุ่น ในขณะที่นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นพยายามแก้ไขปัญหาคะแนนนิยมตกต่ำท่ามกลางค่าครองชีพที่พุ่งสูง โดยกระทรวงแรงงานญี่ปุ่นเพิ่งรายงานในช่วงต้นเดือนนี้ว่า ค่าแรงที่แท้จริง หรือค่าแรงที่ปรับตามภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งถือเป็นมาตรวัดกำลังซื้อของผู้บริโภคญี่ปุ่น ดิ่งลง 1.3% ในเดือนก.พ.เมื่อเทียบรายปี หลังจากรูดลง 1.1% ในเดือนม.ค. โดยค่าแรงที่แท้จริงดิ่งลงในเดือนก.พ.เป็นเดือนที่ 23 ติดต่อกัน และสิ่งนี้บ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อที่ระดับสูงส่งผลลบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคญี่ปุ่น นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเยนก็สร้างความเสียหายต่อญี่ปุ่นด้วย เพราะว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงและอาหารจำนวนมาก ทั้งนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ประสบปัญหาจากภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยพรรคการเมืองของประธานาธิบดียุน ซ็อก ย็อลของเกาหลีใต้เพิ่งประสบความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในเดือนนี้ ในขณะที่หลายคนมองว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ชุดนี้ประสบความล้มเหลวในการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ

  • นายรี ชาง-ยอง ผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลีใต้กล่าวในวันพุธที่ 17 เม.ย.ว่า อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงได้ยากในเกาหลีใต้ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สร้างความยุ่งยากให้แก่ธนาคารกลางเกาหลีใต้ในการตัดสินใจว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ควรจะยุตินโยบายการเงินแบบเข้มงวดเมื่อใด และเขาได้กล่าวในงานประชุมประจำฤดูใบไม้ผลิของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กับธนาคารโลกที่กรุงวอชิงตันว่า "เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดเวลาในการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงิน ในขณะที่เราต้องการจะรอดูหลักฐานเพิ่มเติมก่อนว่า อัตราเงินเฟ้อกำลังชะลอตัวลงเหมือนอย่างที่เราคาดไว้"--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้