ReutersReuters

ASIA:IMF ชี้ธ.กลางในเอเชียไม่ควรทำตามเฟดมากเกินไป

วอชิงตัน--19 เม.ย.--รอยเตอร์

  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกของเดือนเม.ย. 2024 ว่า ไอเอ็มเอฟคาดว่า เศรษฐกิจเอเชียอาจจะขยายตัว 4.5% ในปีนี้ โดยชะลอตัวลงจาก 5.0% ในปีที่แล้ว แต่ตัวเลขคาดการณ์ใหม่นี้ปรับขึ้น 0.3% จากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนต.ค. 2023 นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟยังคาดการณ์อีกด้วยว่า เศรษฐกิจเอเชียอาจจะเติบโต 4.3% ในปี 2025

  • ไอเอ็มเอฟระบุว่า ธนาคารกลางในเอเชียควรจะมุ่งความสนใจไปยังภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศตนเอง และควรหลีกเลี่ยงจากการตัดสินใจกำหนดนโยบายโดยให้ความสำคัญมากเกินไปกับการคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทั้งนี้ นายกฤษณะ ศรีนิวาสาน ผู้อำนวยการแผนกเอเชียและแปซิฟิกของไอเอ็มเอฟกล่าวเมื่อวานนี้ว่า รายงานวิเคราะห์ของเจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟแสดงให้เห็นว่า อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐส่งผลกระทบ "อย่างแข็งแกร่งและฉับพลัน" ต่ออัตราแลกเปลี่ยนในเอเชียและต่อภาวะการเงินในเอเชีย และเขากล่าวเสริมว่า "การคาดการณ์เรื่องการผ่อนคลายนโยบายการเงินของเฟดได้เปลี่ยนแปลงไปมาในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับความจำเป็นในการสร้างเสถียรภาพของราคาในเอเชีย"

  • นายศรีนิวาสานกล่าวว่า "เราแนะนำให้ธนาคารกลางในเอเชียมุ่งความสนใจไปยังภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศ และให้หลีกเลี่ยงจากการตัดสินใจกำหนดนโยบายโดยให้ความสำคัญมากเกินไปต่อการคาดการณ์ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐ" และเขากล่าวเสริมว่า "ถ้าหากธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ ดำเนินนโยบายตามเฟดมากเกินไป การทำเช่นนั้นก็อาจจะเป็นการบ่อนทำลายเสถียรภาพของราคาในประเทศของตนเอง" ทั้งนี้ ถ้อยแถลงของเขาตอกย้ำให้เห็นถึงทางเลือกอันยากลำบากที่ธนาคารกลางบางแห่งในเอเชียเผชิญอยู่ในตอนนี้ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดปริวรรตเงินตราแกว่งตัวผันผวนอย่างรุนแรง โดยเป็นผลจากเฟด

  • นายรี ชาง-ยอง ผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลีใต้เพิ่งกล่าวในวันพุธว่า เฟดมีโอกาสน้อยลงในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และปัจจัยดังกล่าวส่งผลลบต่อค่าเงินวอน และสร้างความยากลำบากให้แก่ธนาคารกลางเกาหลีใต้ในการตัดสินใจว่า ทางธนาคารกลางควรจะเริ่มต้นปรับลดอตราดอกเบี้ยลงเมื่อใด

  • นายศรีนิวาสานกล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจจีนถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อเอเชีย ในขณะที่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างยืดเยื้อยาวนานในจีนถือเป็นหนึ่งในความเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชีย และเขากล่าวเสริมว่า เศรษฐกิจจีนอาจจะได้รับประโยชน์จากการที่รัฐบาลจีนปรับเพิ่มรายจ่าย แต่นโยบายของจีนในการกระตุ้นกำลังความสามารถด้านอุปทานจะ "เป็นการส่งเสริมแรงกดดันเงินฝืด และอาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้ง" ทั้งนี้ เขากล่าวว่า เศรษฐกิจเอเชียเผชิญความเสี่ยงจากการที่ประเทศต่าง ๆ หันมาใช้มาตรการกีดกันทางการค้าอย่างรวดเร็วด้วย--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้