ReutersReuters

ตลาดซื้อขายดอลลาร์/เยน:เยนพุ่งขึ้นเพราะข่าวอิหร่านขณะยูโร,ปอนด์ร่วงลง

สิงคโปร์--19 เม.ย.--รอยเตอร์

  • นักลงทุนหลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยงในการซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ที่ตลาดเอเชีย และปัจจัยนี้ส่งผลให้ดอลลาร์ออสเตรเลียกับดอลลาร์นิวซีแลนด์ดิ่งลงอย่างรุนแรง และส่งผลให้เยนพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อเยนในฐานะสกุลเงินปลอดภัย หลังจากสำนักข่าวเอบีซี นิวส์รายงานว่า อิหร่านถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธของอิสราเอล ทางด้านสำนักข่าวฟาร์สของอิหร่านรายงานว่า มีผู้ได้ยินเสียงระเบิดที่ท่าอากาศยานในเมืองอิซฟาฮานในภาคกลางของอิหร่าน แต่ยังไม่รู้สาเหตุของเสียงระเบิด โดยจังหวัดอิซฟาฮานเป็นที่ตั้งของโรงงานนิวเคลียร์บางแห่งของอิหร่าน ซึ่งรวมถึงโรงงานนิวเคลียร์ที่เมืองนาทานซ์ ซึ่งถือเป็นโรงงานสำคัญในโครงการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมของอิหร่าน ทางด้านสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ได้มีการปรับเส้นทางบินบางเส้นทางเพื่อหลีกเลี่ยงน่านฟ้าของอิหร่าน ทั้งนี้ ข่าวนี้ส่งผลให้นักลงทุนกังวลกันว่า สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสจะลุกลามออกไปในภูมิภาคตะวันออกกลาง และข่าวนี้กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งรวมถึงเยน, ดอลลาร์สหรัฐ, พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และทอง

  • ดอลลาร์/เยนดิ่งลงราว 0.38% สู่ 154.05 เยนในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 154.79 เยนในวันอังคาร ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดรอบ 34 ปี หรือจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1990 ส่วนยูโร/ดอลลาร์ร่วงลง 0.22% สู่ 1.0620 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากร่วงลงแตะ 1.0599 ดอลลาร์ในวันอังคาร ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย. 2023 หรือจุดต่ำสุดรอบ 5 เดือนครึ่ง ทางด้านดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินแข็งค่าขึ้น 0.10% สู่ 106.28 ในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 106.51 ในวันอังคาร ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2023 หรือจุดสูงสุดรอบ 5 เดือนครึ่ง ทั้งนี้ ปอนด์ร่วงลง 0.28% สู่ 1.2403 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ และอาจจะปิดตลาดสัปดาห์นี้ในแดนลบ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียดิ่งลง 0.63% สู่ 0.6380 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ ทางด้านดอลลาร์นิวซีแลนด์รูดลง 0.6% สู่ 0.5866 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้

  • ดัชนีดอลลาร์ปรับขึ้นมาแล้วราว 0.26% จากสัปดาห์ที่แล้ว และมีแนวโน้มว่าอาจจะปิดตลาดสัปดาห์นี้ในแดนบวกเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในภาวะแข็งแกร่งเกินคาด และปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนปรับลดการคาดการณ์เรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยในตอนนี้นักลงทุนในตลาดสัญญาล่วงหน้าคาดว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงรวมกันเพียงราว 0.40% ในปีนี้ หลังจากที่นักลงทุนเคยคาดการณ์ในช่วงต้นปีนี้ว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงรวมกัน 1.60% ในปี 2024 ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเวลส์ ฟาร์โกระบุว่า "ถึงแม้เฟดอาจจะผ่อนคลายนโยบายการเงินลงในเวลาที่ช้าเกินคาด เราก็ยังคงคาดว่า เฟดจะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงก่อนสิ้นปีนี้ และเราก็คาดว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐมีแนวโน้มชะลอตัวลงตลอดทั้งปีนี้ แต่จะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป"

  • ดอลลาร์ปรับขึ้นได้ไม่มากนักในสัปดาห์นี้ เนื่องจากดอลลาร์ได้รับแรงกดดันจากข่าวที่ว่า ผู้นำทางการเงินของสหรัฐ, ยุโรป และเกาหลีใต้ได้จัดการประชุมแบบไตรภาคีทางการเงินของทั้งสามประเทศนี้เป็นครั้งแรกในวันพุธ และผู้นำทางการเงินของทั้งสามประเทศตกลงกันในวันพุธว่า ทั้งสามประเทศนี้จะปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิดในเรื่องตลาดปริวรรตเงินตรา โดยแถลงการณ์ของพวกเขาบ่งชี้ถึงความกังวลของรัฐบาลญี่ปุ่นกับรัฐบาลเกาหลีใต้ที่มีต่อการดิ่งลงอย่างรุนแรงของเยนกับวอนในช่วงนี้ด้วย และสิ่งนี้บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการร่วมมือกันแทรกแซงตลาด ทั้งนี้ แคโรล คอง นักยุทธศาสตร์การลงทุนสกุลเงินของธนาคารคอมมอนเวลธ์ แบงก์ ออฟ ออสเตรเลีย (CBA) กล่าวว่า "การออกแถลงการณ์ร่วมกันถือเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์" และเธอกล่าวเสริมว่า "เมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ในระยะนี้แล้ว ก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นที่จะมีการร่วมมือกันแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราสกุลเงินเอเชีย แต่ดิฉันไม่แน่ใจว่าสหรัฐจะเข้าร่วมในการแทรกแซงตลาดด้วยหรือไม่ เพราะว่าการแข็งค่าของดอลลาร์จะถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเหลือเฟดในการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ"

  • นายคาสุโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการบีโอเจกล่าวในวันพฤหัสบดีว่า บีโอเจอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ถ้าหากการดิ่งลงของเยนส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นสูงมาก โดยเขาแสดงความเห็นดังกล่าวก่อนที่บีโอเจจะจัดการประชุมในวันที่ 25-26 เม.ย. ทั้งนี้ เทรดเดอร์คาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะเริ่มต้นวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 6 มิ.ย. และปัจจัยดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะส่งผลลบต่อยูโรเป็นเวลานานระยะหนึ่ง--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้