ReutersReuters

JAPAN:ญี่ปุ่นเผยอัตราเงินเฟ้อพฐ.ชะลอตัวลงสู่ 2.6% ในมี.ค.

โตเกียว--19 เม.ย.--รอยเตอร์

  • ญี่ปุ่นรายงานในวันนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐาน ซึ่งครอบคลุมราคาพลังงานแต่ไม่รวมราคาอาหารสด ปรับขึ้น 2.6% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเท่ากับตัวเลขคาดการณ์ในตลาด และชะลอตัวลงจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 2.8% ในเดือนก.พ. โดยเป็นผลจากราคาอาหารที่ชะลอการปรับขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ตั้งไว้ที่ 2% ทั้งนี้ ดัชนี CPI พื้นฐาน-พื้นฐานที่ไม่รวมทั้งราคาอาหารสดและราคาพลังงาน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจับตาดูอย่างใกล้ชิด ปรับขึ้น 2.9% ในเดือนมี.ค. โดยชะลอตัวลงจาก +3.2% ในเดือนก.พ. และครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2022 ที่ดัชนีตัวนี้ชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำกว่า +3%

  • นักลงทุนกำลังมองหาสัญญาณบ่งชี้ว่า บีโอเจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งเมื่อใด หลังจากบีโอเจยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในเดือนมี.ค. หลังจากที่เคยดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษมาเป็นเวลานานราว 10 ปี ทางด้านบีโอเจมุ่งความสนใจไปยังประเด็นที่ว่า อัตราเงินเฟ้อในภาคบริการของญี่ปุ่นที่ได้รับแรงหนุนจากการปรับขึ้นค่าแรงจะเร่งตัวขึ้นในช่วงต่อจากนี้หรือไม่ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภคญี่ปุ่นมีแนวโน้มชะลอตัวลง ทั้งนี้ นายมาซาโตะ โคอิเกะ นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทซอมโป อินสติติวท์ พลัสกล่าวว่า "บีโอเจคาดการณ์ไว้แล้วว่า อัตราเงินเฟ้อของราคาสินค้าจะชะลอตัวลง แต่สิ่งที่บีโอเจไม่ได้คาดการณ์ไว้ก็คือการดิ่งลงของเยน และการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบ" โดยเป็นผลจากความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง

  • นายคาสุโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการบีโอเจกล่าวในวันพฤหัสบดีว่า บีโอเจอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ถ้าหากการดิ่งลงของเยนส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศปรับขึ้นสูงมาก ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้บีโอเจเคยระบุว่า การบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2% ได้อย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ และค่าแรงที่ปรับขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติ

  • ถึงแม้บริษัทญี่ปุ่นเสนอปรับขึ้นค่าแรงในปีนี้ในอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 33 ปี ค่าแรงที่แท้จริงของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ปรับตามภาวะเงินเฟ้อ ก็ยังคงร่วงลงมาเป็นเวลานานติดต่อกันเกือบ 2 ปีแล้ว โดยค่าแรงที่แท้จริง ซึ่งถือเป็นมาตรวัดกำลังซื้อของผู้บริโภคญี่ปุ่น เพิ่งดิ่งลง 1.3% ในเดือนก.พ.เมื่อเทียบรายปี หลังจากรูดลง 1.1% ในเดือนม.ค. โดยค่าแรงที่แท้จริงดิ่งลงในเดือนก.พ.เป็นเดือนที่ 23 ติดต่อกัน

  • เจ้าหน้าที่กระทรวงกิจการภายในของญี่ปุ่นกล่าวต่อผู้สื่อข่าวในวันนี้ว่า การปรับขึ้นค่าแรงในระยะนี้ยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาในภาคบริการ และทางรัฐบาลจะจับตาดูผลกระทบดังกล่าวอย่างใกล้ชิด --จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้