ReutersReuters

ตลาดเงินนิวยอร์ค:ตัวเลขศก.,ถ้อยแถลงจนท.เฟดหนุนดอลล์แข็งค่า

นิวยอร์ค--19 เม.ย.--รอยเตอร์

  • ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในวันพฤหัสบดี ในขณะที่สหรัฐรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่ไร้ทิศทางชัดเจน และตัวเลขดังกล่าวยังคงทำให้นักลงทุนมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และมองว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2020 ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. โดยเลื่อนจากเดิมที่เคยคาดไว้เมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อนว่า เฟดอาจจะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 11-12 มิ.ย. นอกจากนี้ นักลงทุนในตลาดสัญญาล่วงหน้ายังคาดการณ์กันอีกด้วยว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียง 0.38% ในปี 2024 หรือปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งละ 0.25% เป็นจำนวนไม่ถึง 2 ครั้ง หลังจากที่นักลงทุนเคยคาดไว้เมื่อต้นปีนี้ว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 6 ครั้งในปี 2024 ทั้งนี้ ดอลลาร์ได้รับแรงหนุน หลังจากนายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์คกล่าวว่า เฟดไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในตอนนี้ เมื่อพิจารณาจากความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของสหรัฐ

  • ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 106.17 ในช่วงท้ายตลาดวันพฤหัสบดี โดยแข็งค่าขึ้นจาก 105.96 ในช่วงท้ายตลาดวันพุธ หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 106.51 ในวันอังคาร ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2023 หรือจุดสูงสุดรอบ 5 เดือนครึ่ง โดยดัชนีดอลลาร์พุ่งขึ้นมาแล้ว 4.5% จากช่วงต้นปีนี้

    ดอลลาร์/เยนอยู่ที่ 154.63 เยนในช่วงท้ายตลาดวันพฤหัสบดี โดยปรับขึ้นจากระดับปิดตลาดวันพุธที่ 154.38 เยน หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 154.79 เยนในวันอังคาร ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดรอบ 34 ปี หรือจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1990

    ยูโร/ดอลลาร์อยู่ที่ 1.0643 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี โดยอ่อนค่าลงจาก 1.0671 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันพุธ หลังจากร่วงลงแตะ 1.0599 ดอลลาร์ในวันอังคาร ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย. 2023 หรือจุดต่ำสุดรอบ 5 เดือนครึ่ง

  • เยนแข็งค่าขึ้นในช่วงแรกของวันพฤหัสบดี หลังจากนายมาซาโตะ คันดะ รมช.คลังญี่ปุ่นฝ่ายกิจการระหว่างประเทศกล่าวว่า ผู้นำทางการเงินของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 หรือจี-7 ยืนยันจุดยืนของตนเองที่ว่า ความผันผวนที่มากเกินไปของอัตราแลกเปลี่ยนถือเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา อย่างไรก็ดี เยนร่วงลงในเวลาต่อมา ทั้งนี้ นายคาสุโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการบีโอเจกล่าวในวันพฤหัสบดีว่า บีโอเจอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ถ้าหากการดิ่งลงของเยนส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศปรับขึ้นสูงมาก

  • มีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่ไร้ทิศทางชัดเจนในสหรัฐในวันพฤหัสบดี โดยเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียรายงานว่า ดัชนีภาวะธุรกิจในภูมิภาคมิดแอตแลนติกของสหรัฐพุ่งขึ้นจาก 3.2 ในเดือนมี.ค. สู่ 15.5 ในเดือนเม.ย. ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ 2.3 และรายงานตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมภาคการผลิตในภูมิภาคมิดแอตแลนติกขยายตัวในเดือนเม.ย.ในอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 2 ปี โดยได้รับแรงหนุนจากความแข็งแกร่งของยอดสั่งซื้อใหม่ และยอดขนส่งสินค้าสำเร็จรูป โดยดัชนียอดสั่งซื้อใหม่พุ่งขึ้นจาก 5.4 ในเดือนมี.ค. สู่ 12.2 ในเดือนเม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2023 ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐอยู่ที่ 212,000 รายในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 เม.ย. ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 215,000 ราย ทางด้านสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) รายงานในวันพฤหัสบดีว่า ยอดขายบ้านมือสองในสหรัฐดิ่งลง 4.3% ในเดือนมี.ค. สู่ 4.19 ล้านยูนิตต่อปี โดยได้รับแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น และราคาบ้านที่ปรับสูงขึ้น

  • นายมาร์ค แชนด์เลอร์ หัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุนตลาดของบริษัทบานน็อคเบิร์น ฟอเร็กซ์กล่าวว่า "สหรัฐจะรายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ออกมาในสัปดาห์หน้า แต่นักลงทุนมองข้ามจุดนี้ไปแล้ว โดยตัวเลขสำคัญอันถัดไปก็คือตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐที่จะได้รับการรายงานออกมาในวันที่ 3 พ.ค. และมีแนวโน้มว่าการจ้างงานในสหรัฐอาจพุ่งขึ้นสูงกว่า 250,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย."--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้