ReutersReuters

ASIA:คาดเอเชียอาจเผชิญกับสงครามการปรับลดค่าเงินขณะดอลล์พุ่งสูง

ออร์แลนโด,รัฐฟลอริดา--18 เม.ย.--รอยเตอร์

  • นายเจมี แมคกีเวอร์ ผู้เขียนคอลัมน์ของรอยเตอร์ระบุว่า ทวีปเอเชียอาจจะเผชิญกับกระแสการปรับลดค่าเงินในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งอาจจะเป็นสงครามการปรับลดค่าเงินอย่างเต็มรูปแบบ หรืออาจจะเป็นการแข่งขันกันปรับลดค่าเงิน ในขณะที่ผู้กำหนดโยบายของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียพยายามรับมือกับปัญหาหลายประการ ซึ่งรวมถึงการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ, การที่ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศจี-10 หรือกลุ่มประเทศเจ้าของสกุลเงิน 10 สกุลที่ได้รับการซื้อขายมากที่สุดในโลก ดำเนินนโยบายการเงินในทิศทางที่แตกต่างกัน และการที่เยนดิ่งลงอย่างรุนแรงมากโดยที่รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้เข้ามาขัดขวาง ทั้งนี้ ถึงแม้ผู้กำหนดนโยบายมีความเห็นตรงกันว่า การปรับลดค่าเงินไม่ได้ถือเป็นเพียงเครื่องมือเดียวที่สามารถใช้ได้ในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้ การที่เยนหรือสกุลเงินสำคัญบางสกุลในเอเชียดิ่งลงอย่างรุนแรงก็จะยังคงส่งผลให้ประเทศอื่น ๆ ในเอเชียได้รับแรงกดดันตามไปด้วย

  • อัตราแลกเปลี่ยนยังคงมีความสำคัญในเอเชีย ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียเคยแข่งขันกันมานานแล้วในการปรับเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในการส่งออกสินค้า และเอเชียก็ได้รับแรงกดดันจากการพุ่งขึ้นสูงมากของดอลลาร์ในปีนี้ด้วย ในขณะที่นักลงทุนปรับลดการคาดการณ์เรื่องแนวโน้มในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทั้งนี้ นายสตีเวน อิงแลนเดอร์ หัวหน้าฝ่ายแผนยุทธศาสตร์การลงทุนสกุลเงินจี-10 ของธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดกล่าวว่า "แทบไม่มีประเทศตลาดเกิดใหม่ประเทศใดที่ตั้งเป้าที่จะปรับลดค่าเงินของตนเอง แต่ทุกประเทศต่างก็กังวลกับความเสียหายที่อาจได้รับจากประเทศอื่น ๆ" และเขากล่าวเสริมว่า "แต่ละประเทศสามารถแบกรับความเสียเปรียบทางการแข่งขันได้เพียงในวงจำกัดเท่านั้น ถึงแม้ว่าแต่ละประเทศไม่ได้ตั้งเป้าที่จะสร้างความได้เปรียบผ่านทางอัตราแลกเปลี่ยนก็ตาม"

  • หลายประเทศในเอเชียกำลังเผชิญกับความเสียเปรียบทางการแข่งขันในช่วงนี้ ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มจี-10 ดำเนินนโยบายทางการเงินในทิศทางที่แตกต่างกัน โดยนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดเพิ่งส่งสัญญาณในวันอังคารว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงเป็นเวลานานต่อไป ในขณะที่คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่า อีซีบีอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเร็ว ๆ นี้ ทางด้านธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปแล้วในเดือนมี.ค. และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ก็ยังไม่ได้เข้ามาแทรกแซงในตลาดปริวรรตเงินตรา ถึงแม้เยนดิ่งลงแตะ 154.79 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐในวันอังคาร ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดรอบ 34 ปี หรือจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1990 ทั้งนี้ การดิ่งลงของเยนช่วยให้ญี่ปุ่นมีความได้เปรียบทางการแข่งขันเหนือประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย โดยเยนดิ่งลงมาแล้ว 25% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และปัจจัยนี้ช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นสามารถหลีกเลี่ยงจากภาวะถดถอย โดยปัจจัยนี้ส่งผลบวก 1.4% ต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปีงบประมาณ 2023/2024

  • เยนดิ่งลงมาแล้ว 7% เมื่อเทียบกับหยวนในปีนี้ และรูดลง 9% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ ในขณะที่หยวน/เยนพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1993 หรือจุดสูงสุดรอบ 30 ปีในช่วงนี้ ส่วนวอน/เยนเคลื่อนตัวอยู่ใกล้จุดสูงสุดรอบ 16 ปีในช่วงนี้ ทางด้านดัชนีค่าเงินที่แท้จริง (REER) ของหยวนอยู่ที่จุดสูงสุดในรอบ 1 ปีในช่วงนี้ แต่ก็ยังคงอยู่ไม่ห่างจากจุดต่ำสุดรอบ 10 ปีที่ทำไว้ในเดือนก.ค. 2023 ทั้งนี้ การค้าระหว่างภูมิภาคมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยการค้าระหว่างภูมิภาคเคยครองสัดส่วน 46% ของการค้าทั้งหมดของเอเชียในปี 1990 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 53% ในปี 2000 และอยู่ที่ราว 60% ของการค้าทั้งหมดของเอเชียในปัจจุบัน โดยราว 2 ใน 3 ของการค้าดังกล่าวอยู่ในรูปของสินค้าขั้นกลาง หรือปัจจัยที่ใช้ในการผลิตสินค้าอื่น ๆ และความสัมพันธ์กันแบบนี้ช่วยบดบังความสัมพันธ์ทางการค้าที่แท้จริงระหว่างประเทศต่าง ๆ

  • บริษัทอ็อกซ์ฟอร์ด อิโคโนมิคส์ระบุว่า สัดส่วนของยอดนำเข้าจากจีนสู่สหรัฐเมื่อเทียบกับยอดนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐ ดิ่งลง 8% ในช่วงปี 2017-2023 แต่สัดส่วนของยอดนำเข้าจากยุโรป, เม็กซิโก, เวียดนาม, ไต้หวัน และเกาหลีใต้สู่สหรัฐพุ่งสูงขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ดี สัดส่วนของยอดนำเข้าจากจีนสู่ประเทศเหล่านี้เมื่อเทียบกับยอดนำเข้าทั้งหมดพุ่งสูงขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะสัดส่วนของยอดนำเข้าจากจีนสู่เวียดนาม และสิ่งนี้บ่งชี้ว่า สหรัฐอาจนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นจำนวนมาก แต่เป็นการนำเข้าในทางอ้อม แทนที่จะเป็นการนำเข้าในทางตรง ทั้งนี้ นายอดัม สเลเทอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทอ็อกซ์ฟอร์ด อิโคโนมิคส์คาดว่า เอเชียจะไม่ได้รับความเสียหายมากนักจากความปั่นป่วนวุ่นวายในตลาดปริวรรตเงินตรารอบนี้ และสิ่งนี้จะแตกต่างจากภาวะปั่นป่วนวุ่นวายในตลาดปริวรรตเงินตราเอเชียในช่วงปลายทศวรรษ 1990--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้