ReutersReuters

USA:ชี้ดอลล์พุ่งขึ้นเพราะแนวโน้มดบ.สหรัฐแตกต่างจากปท.อื่น ๆ

17 เม.ย.--รอยเตอร์

  • ดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นในช่วงนี้ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่ระดับสูงในสหรัฐส่งผลให้นักลงทุนไม่แน่ใจว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้มากน้อยเพียงใดในปีนี้ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 106.20 ในวันนี้ โดยพุ่งขึ้นมาแล้ว 4.76% จากช่วงต้นปีนี้ และดัชนีดอลลาร์เพิ่งทะยานขึ้นแตะ 106.51 เมื่อวานนี้ ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย. 2023 หรือจุดสูงสุดรอบ 5 เดือนครึ่ง นอกจากนี้ ดัชนีดอลลาร์ก็เพิ่งพุ่งขึ้น 1.7% ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการพุ่งขึ้นรายสัปดาห์ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2022 ทั้งนี้ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ในขณะที่นักลงทุนเชื่อมั่นว่า เฟดจำเป็นจะต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบันต่อไป เพื่อจะได้สกัดกั้นการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ โดยในตอนนี้นักลงทุนคาดว่า เฟดอาจจะเริ่มต้นวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. โดยเลื่อนจากเดิมที่เคยคาดว่าจะเป็นการประชุมวันที่ 11-12 มิ.ย. นอกจากนี้ เทรดเดอร์ก็คาดการณ์กันอีกด้วยว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงรวมกันเพียง 0.41% ในปี 2024 หลังจากที่เคยคาดการณ์กันไว้ในช่วงต้นปีนี้ว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1.60% ในปี 2024

  • นักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี), ธนาคารกลางแคนาดา และธนาคารกลางสวีเดน อาจจะมีโอกาสมากกว่าเฟดในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยการคาดการณ์นี้แตกต่างไปจากช่วง 2-3 เดือนก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่นักลงทุนหลายรายคาดว่า เฟดอาจจะเป็นหนึ่งในธนาคารกลางกลุ่มแรกที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยนายเอริค เลเว หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของบริษัทเบลาร์ดกล่าวว่า "เราเคยคาดการณ์ในช่วงก่อนหน้านี้ว่า เฟดอาจจะเป็นธนาคารกลางสำคัญแห่งแรกที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาสวนทางกับการคาดการณ์ดังกล่าว" และเขากล่าวเสริมว่า "ผมมองเห็นเหตุผลอันชัดเจนที่จะสนับสนุนให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นต่อไป" ทั้งนี้ ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนระหว่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐกับพันธบัตรประเทศอื่น ๆ ได้ขยายกว้างมากยิ่งขึ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา และปัจจัยนี้ก็มีส่วนช่วยหนุนดอลลาร์ให้แข็งค่าขึ้นด้วย โดยส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐกับเยอรมนีประเภทอายุ 2 ปีได้ขยายขึ้นจนแตะระดับที่กว้างที่สุดนับตั้งแต่ปี 2022 ในวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังจากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ส่งสัญญาณในวันพฤหัสบดีที่ 11 เม.ย.ว่า อีซีบีอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 6 มิ.ย. ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นจาก 4.628% ในช่วงท้ายวันจันทร์ สู่ 4.657% ในช่วงท้ายวันอังคาร หลังจากทะยานขึ้นแตะ 4.696% ในระหว่างช่วงการซื้อขายวันอังคาร ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดรอบ 5 เดือน

  • คณะกรรมการการค้าสัญญาล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ของสหรัฐ (CFTC) รายงานว่า นักเก็งกำไรได้ปรับเพิ่มการถือครองสถานะซื้อสุทธิในดอลลาร์สหรัฐขึ้นจนแตะระดับ 1.774 หมื่นล้านดอลลาร์ในสัปดาห์ล่าสุด ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2022 หลังจากที่นักเก็งกำไรเคยถือครองสถานะขายสุทธิในดอลลาร์สหรัฐในระดับสูงมากเมื่อ 3 เดือนก่อน ทั้งนี้ นโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ได้ปรับตัวแตกต่างกันในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในประเทศต่าง ๆ โดยธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในเดือนมี.ค. ซึ่งถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 9 ปี ส่วนธนาคารกลางสวีเดนส่งสัญญาณว่า ทางธนาคารกลางอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนพ.ค. ถ้าหากอัตราเงินเฟ้อยังคงชะลอตัวลงต่อไป ทางด้านธนาคารกลางแคนาดาระบุว่า ทางธนาคารกลางพร้อมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA), ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) และธนาคารกลางนอร์เวย์ ยังไม่รีบร้อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง

  • นายเอริค เมอร์ลิส กรรมการผู้จัดการบริษัทซิติเซนส์ คาดว่าดอลลาร์สหรัฐอาจจะยังคงแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินหลายสกุล โดยได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า เฟดมีแนวโน้มแบบสายเหยี่ยวมากกว่าอีซีบี ในขณะที่ยูโร/ดอลลาร์ดิ่งลงมาแล้ว 3.7% จากช่วงต้นปีนี้ และเขากล่าวเสริมว่า "ดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งกว่าประเทศอื่น ๆ ในตอนนี้ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับสูงขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจยุโรปเติบโตขึ้นได้ยากกว่าเศรษฐกิจสหรัฐ" ทั้งนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์อาจจะสร้างความยากลำบากให้แก่ประเทศอื่น ๆ ในการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อในประเทศนั้น แต่การแข็งค่าของดอลลาร์อาจจะช่วยเหลือสหรัฐในการควบคุมราคาผู้บริโภคในสหรัฐ

  • การแข็งค่าของดอลลาร์อาจจะสร้างความยากลำบากให้แก่บริษัทข้ามชาติของสหรัฐ เพราะการแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลลบต่อการแปลงผลกำไรในรูปสกุลเงินต่างชาติให้เป็นดอลลาร์สหรัฐ และส่งผลให้สินค้าส่งออกของสหรัฐมีความสามารถทางการแข่งขันน้อยลงในต่างประเทศ ทั้งนี้ ดอลลาร์ได้รับแรงหนุนในฐานะสกุลเงินปลอดภัยในช่วงนี้ด้วย ในขณะที่นักลงทุนกังวลกับความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้