ReutersReuters

JAPAN:ผลสำรวจชี้ความเชื่อมั่นบริษัทญี่ปุ่นร่วงลงในเม.ย.เพราะเยนดิ่งลง

โตเกียว--17 เม.ย.--รอยเตอร์

  • รอยเตอร์ได้สำรวจความเห็นบริษัทขนาดใหญ่นอกภาคการเงินของญี่ปุ่นหลายแห่งในวันที่ 3-12 เม.ย. ซึ่งมีบริษัท 235 แห่งที่ตอบแบบสำรวจกลับมา และรอยเตอร์ได้เปิดเผยผลสำรวจ "รอยเตอร์ ทังกัน" รายเดือนออกมาในวันนี้ โดยผลสำรวจระบุว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจของบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นปรับลดลงในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค. โดยเป็นผลจากค่าครองชีพในญี่ปุ่นและภาวะเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคงในจีน ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นสำหรับบริษัทผู้ผลิตของญี่ปุ่นอยู่ที่ +9 ในเดือนเม.ย. โดยขยับลงจาก +10 ในเดือนมี.ค. แต่มีแนวโน้มว่าจะปรับขึ้นสู่ +10 ในเดือนก.ค. หรือในอีก 3 เดือนข้างหน้า ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นสำหรับภาคบริการของญี่ปุ่นอยู่ที่ +25 ในเดือนเม.ย. โดยดิ่งลงจาก +32 ในเดือนมี.ค. และมีแนวโน้มว่าจะปรับขึ้นสู่ +27 ในเดือนก.ค.

  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการผลิตญี่ปุ่นปรับลดลงในเดือนเม.ย. โดยได้รับแรงกดดันจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคเคมีภัณฑ์ที่ดิ่งลงจาก +9 ในเดือนมี.ค. สู่ 0 ในเดือนเม.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นของบริษัทแปรรูปอาหารที่รูดลงจาก +25 ในเดือนมี.ค. สู่ +14 ในเดือนเม.ย. ทางด้านดัชนีความเชื่อมั่นภาคบริการดิ่งลงในเดือนเม.ย. ถึงแม้ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคค้าปลีกพุ่งขึ้นจาก +44 ในเดือนมี.ค. สู่ +54 ในเดือนเม.ย. ทั้งนี้ ดัชนีรอยเตอร์ ทังกันนี้จัดทำจากการนำเอาสัดส่วนของบริษัทที่คาดการณ์ในทางลบ มาหักลบออกจากสัดส่วนของบริษัทที่คาดการณ์ในทางบวก โดยตัวเลขที่เป็นบวกหมายความว่า บริษัทที่คาดการณ์ในทางบวกมีจำนวนสูงกว่าบริษัทที่คาดการณ์ในทางลบ โดยผลสำรวจรอยเตอร์ ทังกันรายเดือนนี้มักจะปรับตัวสอดคล้องกับผลสำรวจทังกันรายไตรมาสที่จัดทำโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ)

  • ผลสำรวจรอยเตอร์ ทังกันระบุว่า การที่ค่าเงินเยนดิ่งลงแตะจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1990 หรือจุดต่ำสุดรอบ 34 ปีในช่วงนี้ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าพุ่งสูงขึ้น และสิ่งนี้ส่งผลลบต่อปริมาณการบริโภคภาคครัวเรือน และผลสำรวจยังระบุอีกด้วยว่า ถึงแม้การดิ่งลงของเยนช่วยหนุนมูลค่าการส่งออก ปริมาณการส่งออกของญี่ปุ่นก็ไม่ได้รับแรงหนุนมากนักจากปัจจัยนี้ ทางด้านดอลลาร์/เยนขยับลง 0.03% สู่ 154.66 เยนในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 154.79 เยนในวันอังคาร ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดรอบ 34 ปี หรือจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1990

  • ผู้จัดการบริษัทผู้ผลิตเคมีภัณฑ์แห่งหนึ่งระบุว่า "ยอดขายของเราดูเหมือนว่าได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของเยน แต่ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าปริมาณการขายฟื้นตัวขึ้น" ในขณะที่ผู้จัดการบริษัทเคมีภัณฑ์อีกแห่งระบุว่า "บริษัทญี่ปุ่นโดยรวมอาจจะได้รับแรงกระตุ้นให้ปรับขึ้นค่าแรง แต่การปรับขึ้นราคาส่งผลลบต่อความต้องการของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าอย่างเช่นอาหารและของใช้ในชีวิตประจำวัน" ทั้งนี้ บริษัทญี่ปุ่นแสดงความกังวลต่อปัจจัยในต่างประเทศด้วย โดยผู้จัดการบริษัทผู้ผลิตกระดาษ/เยื่อกระดาษแห่งหนึ่งระบุว่า "อุปสงค์ยังไม่ได้เข้าสู่เสถียรภาพในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในจีนดำเนินไปอย่างล่าช้า และมีความไม่แน่นอนในแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ซึ่งอาจจะปรับตัวแตกต่างจากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ"

  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ได้เปิดเผยผลสำรวจความเห็นบริษัทญี่ปุ่น หรือรายงานทังกันรายไตรมาสออกมาในวันที่ 1 เม.ย. โดยรายงานระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของบริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นปรับลงสู่ +11 ในเดือนมี.ค. จาก +13 ในเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว โดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคการผลิตปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นของบริษัทภาคบริการขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นปรับขึ้นสู่ +34 ในเดือนมี.ค. จาก +32 ในเดือนธ.ค. 2023 โดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคบริการปรับขึ้นในไตรมาสล่าสุดเป็นไตรมาสที่ 8 ติดต่อกัน และระดับ +34 นี้ถือว่าสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 1991 เป็นต้นมา หรือสูงที่สุดในรอบเกือบ 33 ปี ทั้งนี้ สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นรายงานในวันจันทร์ที่ 15 เม.ย.ว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานของญี่ปุ่นพุ่งขึ้น 7.7% ในเดือนก.พ.เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2023 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ +0.8% โดยก่อนหน้านั้นยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานเพิ่งดิ่งลง 1.7% ในเดือนม.ค.เมื่อเทียบรายเดือน--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้