ReutersReuters

ตลาดซื้อขายดอลลาร์/เยน:ดอลล์ทรงตัวหลัง"พาวเวลล์"ส่งสัญญาณจะคงดบ.สูง

สิงคโปร์--17 เม.ย.--รอยเตอร์

  • ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินทรงตัวในการซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ที่ตลาดเอเชีย หลังจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) บางคน ซึ่งรวมถึงนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดส่งสัญญาณว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงเป็นเวลานานต่อไป และระบุว่านโยบายการเงินจำเป็นจะต้องอยู่ในภาวะเข้มงวดเป็นเวลานาน โดยถ้อยแถลงเหล่านี้ทำลายความหวังของนักลงทุนที่ว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นอย่างมากในปีนี้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เฟดก็ไม่ได้ส่งสัญญาณอีกด้วยว่า เฟดอาจจะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเมื่อใด ทั้งนี้ นายพาวเวลล์กล่าวในวันอังคารว่า เฟดอาจจะมีความจำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงต่อไปเป็นเวลานาน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงลดลงได้ยาก และเขาตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติมในปีนี้ในการเข้าใกล้เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2% นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกด้วยว่า "ตัวเลขเศรษฐกิจในระยะนี้ไม่ได้ทำให้เรามีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น แต่ตัวเลขเศรษฐกิจในระยะนี้กลับบ่งชี้ว่า มีแนวโน้มที่จะใช้เวลานานเกินคาดในการที่เราจะมีความเชื่อมั่นเช่นนั้น" และเขากล่าวเสริมว่า "เมื่อพิจารณาจากความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานและความคืบหน้าในการควบคุมภาวะเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่เหมาะสมในตอนนี้ก็คือการปล่อยให้นโยบายแบบเข้มงวดได้ทำงานต่อไปเป็นเวลานานยิ่งขึ้น และปล่อยให้ตัวเลขเศรษฐกิจกับแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นผู้ชี้นำทิศทางของเรา"

  • ดอลลาร์/เยนขยับลง 0.03% สู่ 154.66 เยนในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 154.79 เยนในวันอังคาร ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดรอบ 34 ปี หรือจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1990 ส่วนยูโร/ดอลลาร์ขยับขึ้น 0.09% สู่ 1.0627 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากร่วงลงแตะ 1.0599 ดอลลาร์ในวันอังคาร ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย. 2023 หรือจุดต่ำสุดรอบ 5 เดือนครึ่ง ทางด้านดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินขยับลง 0.05% สู่ 106.28 ในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 106.51 ในวันอังคาร ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2023 หรือจุดสูงสุดรอบ 5 เดือนครึ่ง ทั้งนี้ ปอนด์ขยับขึ้น 0.02% สู่ 1.2430 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากดิ่งลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 5 เดือนที่ 1.2406 ดอลลาร์สหรัฐในวันอังคาร ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้น 0.27% สู่ 0.6418 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ ทางด้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ทะยานขึ้น 0.39% สู่ 0.5902 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้

  • ถ้อยแถลงของนายพาวเวลล์ทำลายความหวังของนักลงทุนที่ว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในระยะอันใกล้นี้ โดยในตอนนี้นักลงทุนคาดว่า เฟดอาจจะเริ่มต้นวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. โดยเลื่อนจากเดิมที่เคยคาดว่าจะเป็นการประชุมวันที่ 11-12 มิ.ย. นอกจากนี้ เทรดเดอร์ก็คาดการณ์กันอีกด้วยว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงรวมกันเพียง 0.41% ในปี 2024 หลังจากที่เคยคาดการณ์กันไว้ในช่วงต้นปีนี้ว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1.60% ในปี 2024

  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นจาก 4.628% ในช่วงท้ายวันจันทร์ สู่ 4.657% ในช่วงท้ายวันอังคาร หลังจากทะยานขึ้นแตะ 4.696% ในระหว่างช่วงการซื้อขายวันอังคาร ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดรอบ 5 เดือน โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ได้รับแรงหนุนจากตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐที่แข็งแกร่งเกินคาดที่ได้รับการรายงานออกมาในวันจันทร์ ทั้งนี้ ดอลลาร์/เยนพุ่งขึ้นมาแล้วราว 9% จากช่วงต้นปีนี้ ในขณะที่ดอลลาร์/เยนมักปรับตัวสอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

  • นายคีแรน วิลเลียมส์ หัวหน้าฝ่ายตลาดปริวรรตเงินตราเอเชียของบริษัทอินทัช แคปิตัล มาร์เก็ตส์กล่าวว่า "ผมคิดว่าดอลลาร์/เยนจะพุ่งขึ้นเหนือระดับ 155 เยนในเร็ว ๆ นี้" และเขากล่าวเสริมว่า "ถึงแม้เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นหลายคนพยายามกล่าวแทรกแซงค่าเงินเยนในช่วงนี้ เนื่องจากดอลลาร์/เยนพุ่งขึ้นนับตั้งแต่สหรัฐรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในสัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นก็มุ่งความสนใจไปยังความรวดเร็วของความเคลื่อนไหว แทนที่จะมุ่งความสนใจไปยังระดับของค่าดอลลาร์/เยน" ทั้งนี้ เขากล่าวอีกด้วยว่า ถ้าหากญี่ปุ่นต้องการจะแทรกแซงตลาดในแบบที่ส่งผลกระทบอย่างยั่งยืนในตอนนี้ ญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มว่าจำเป็นจะต้องใช้เงินสูงกว่า 6.0 หมื่นล้านดอลลาร์เป็นอย่างมากในการแทรกแซงตลาดรอบนี้ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 2 ปีพุ่งขึ้นมาแล้วราว 0.36% นับตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย. และอยู่ที่ 4.974% ในช่วงเช้าวันนี้--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้