ReutersReuters

JAPAN:นักวิเคราะห์ชี้บีโอเจระมัดระวังในการปรับนโยบายหลังเคยเจ็บปวดกับการสู้กับเงินฝืด

  • ความทรงจำที่เจ็บปวดของญี่ปุ่นในการต่อสู้กับภาวะเงินฝืดนานหลายทศวรรษกำลังมีผลอย่างหนักกอการพิจารณาของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่จะดำเนินขั้นตอนแรกในการถอนนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายพิเศษ แม้ขณะที่อัตราเงินเฟ้อและค่าจ้างเพิ่มขึ้นก็ตาม โดยแหล่งข่าว 3 รายที่คุ้นเคยกับแนวคิดของบีโอเจกล่าวว่า ความไม่แน่ใจเกี่ยวกับแนวโน้มค่าจ้าง และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลกที่กำลังเกิดขึ้นเพิ่มโอกาสที่บีโอเจจะชะลอการปรับเปลี่ยนนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนไปจนถึงฤดูใบไม้ร่วงเป็นอย่างช้า

  • แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวว่า "ในประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำพิเศษมานาน 2 ทศวรรษ การดำเนินการครั้งแรกของบีโอเจอาจจะส่งผลกระทบมหาศาล นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้บีโอเจระมัดระวังแล้ว" ทั้งนี้ บีโอเจไม่ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งบีโอเจขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นเป็น 0.5% จาก 0.25% ซึ่งถูกวิจารณ์ในภายหลังว่าล่าช้าในการยุติภาวะราคาชะงักงัน

  • หลังจากที่มีส่วนร่วมในการต่อสู้กับภาวะเงินฝืดของญี่ปุ่นในฐานะกรรมการบีโอเจมาตั้งแต่ปี 1998-2005 นายคาสุโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการบีโอเจก็ทราบดีถึงอันตรายจากการถอนนนโยบการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษเร็วเกินไป และเขาเคยคัดค้านการตัดสินใจในปี 2000 ที่บีโอเจขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจาก 0% เป็น 0.25% ซึ่งบีโอเจก็ได้รับแรงกดดันทางการเมืองอย่างมากที่ขึ้นดอกเบี้ย และถูกสถานการณ์บังคับให้เปลี่ยนนโยบายในเวลา 8 เดือนต่อมาเท่านั้น และใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ

  • แหล่งข่าวระบุว่า เมื่อดูจากความเจ็บปวดจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายในเวลาที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว ความระมัดระวังจึงเป็นภารกิจสำคัญของนายอุเอดะ ซึ่งบ่งชี้ว่า การยุตินโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนอาจจะยังไม่เกิดขึ้นอีกนาน และนั่นหมายความว่า การเปลี่ยนนโยบายที่มีนัยสำคัญอาจจะใช้เวลานานขึ้นอีก

  • ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างแนวคิดของบีโอเจและแนวคิดของตลาดอยู่ที่แนวโน้มเงินเฟ้อของญี่ปุ่น โดยอัตราเงินเฟ้อในขณะนี้เป็นปัจจัยกระตุ้นสำหรับการถอนนโยบายน้อยกว่าที่เคยเป็นในอดีต เนื่องจากผู้กำหนดนโยบายพุ่งความสนใจไปที่ความเสี่ยงที่ว่า นั่นอาจจะทำลายเส้นทางไปสู่การฟื้นตัวที่ยั่งยืน ซึ่งแหล่งข่าวรายที่ 3 กล่าวว่า "ถ้าคุณรู้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวรุนแรงเพราะการขึ้นดอกเบี้ยแบบเชิงรุกในอดีต ก็เป็นเรื่องปกติที่บีโอเจจะระมัดระวังกับการทยอยยกเลิกมาตรการกระตุ้น" นอกจากนี้ ภาวะชะลอตัวของจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักสำหรับผู้ผลิตของญี่ปุ่น ทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่า บริษัทจะสามารถเก็บเกี่ยวผลกำไรได้เพียงพอที่จะขึ้นค่าจ้างต่อไปในปีหน้าได้หรือไม่--จบ--

Eikon source text

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้