ReutersReuters

ตลาดเงินนิวยอร์ค:ตัวเลขศก.หนุนดัชนีดอลล์ปรับขึ้นแตะจุดสูงสุด 2 เดือน

นิวยอร์ค--26 พ.ค.--รอยเตอร์

  • ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินปรับขึ้นในวันพฤหัสบดีเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน ซึ่งถือเป็นการปิดตลาดในแดนบวกที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปลายเดือนก.พ. ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาในวันพฤหัสบดีบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐรักษาระดับความแข็งแกร่งไว้ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐปรับขึ้น 4,000 ราย สู่ 229,000 รายในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 พ.ค. ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ 245,000 รายเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังปรับทบทวนตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 พ.ค.ลง 17,000 ราย สู่ 225,000 ราย จากเดิมที่เคยรายงานว่าอยู่ที่ 242,000 ราย และสิ่งนี้บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะแข็งแกร่ง

  • ดอลลาร์อยู่ที่ 140.05 เยน ในช่วงท้ายตลาดวันพฤหัสบดี โดยแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดวันพุธที่ 139.46 เยน หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 140.23 เยนในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย. 2022 หรือจุดสูงสุดรอบ 6 เดือน ส่วนยูโรอยู่ที่ 1.0719 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี โดยอ่อนค่าลงจาก 1.0748 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันพุธ หลังจากดิ่งลงแตะ 1.0706 ดอลลาร์ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. หรือจุดต่ำสุดรอบ 2 เดือน ทางด้านดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 104.23 ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี โดยปรับขึ้นจาก 103.84 ในช่วงท้ายวันพุธ หลังจากแข็งค่าขึ้นแตะ 104.31 ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. ทั้งนี้ ปอนด์อยู่ที่ 1.2321 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี โดยอ่อนค่าลงจาก 1.2366 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันพุธ

  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้เปิดเผยผลการประเมินครั้งที่ 2 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐประจำไตรมาสแรกในวันพฤหัสบดี โดยระบุว่าจีดีพีสหรัฐเติบโต 1.3% ในไตรมาสแรกเมื่อเทียบเป็นตัวเลขเต็มปี (annualized) โดยปรับขึ้นจากตัวเลขประเมินครั้งแรกที่ 1.1% สำหรับไตรมาสแรก หลังจากจีดีพีสหรัฐเติบโต 2.6% ในไตรมาส 4/2022 ทั้งนี้ นักลงทุนบางรายมองว่า ตัวเลขเศรษฐกิจเหล่านี้บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่นักลงทุนบางรายเคยคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ โดยในตอนนี้นักลงทุนในตลาดสัญญาล่วงหน้าคาดการณ์ว่า มีโอกาส 51.4% ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. และมีโอกาส 48.6% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. โดยโอกาสดังกล่าวปรับขึ้นจากระดับราว 36% ที่เคยคาดไว้ในวันพุธ

  • ยูโรร่วงลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 2 เดือน หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนีรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของเยอรมนีหดตัวลง 0.3% ในไตรมาสแรกเมื่อเทียบรายไตรมาส หลังจากหดตัวลง 0.5% ในไตรมาส 4/2022 ซึ่งเท่ากับว่าเศรษฐกิจเยอรมนีได้เข้าสู่ภาวะถดถอย

  • ดอลลาร์ได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมในฐานะสกุลเงินปลอดภัยจากความกังวลเรื่องเพดานหนี้สหรัฐ ในขณะที่บริษัทฟิทช์ได้ประกาศให้เครดิตพินิจเชิงลบแก่อันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐที่ "AAA" ในวันพุธ และบริษัทดีบีอาร์เอส มอร์นิงสตาร์ได้ประกาศในวันพฤหัสบดีว่าจะพิจารณาทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐโดยอาจจะปรับลดอันดับลง ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นแตกต่างกันไปในช่วงนี้ต่อประเด็นที่ว่า เฟดควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปหรือไม่ โดยซูซาน คอลลินส์ ประธานเฟดสาขาบอสตันกล่าวในวันพฤหัสบดีว่า ขณะนี้อาจจะเป็นเวลาที่เฟดควรจะหยุดพักจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนนายโธมัส บาร์คิน ประธานเฟดสาขาริชมอนด์กล่าวว่า เฟดกำลัง "ทดสอบและเรียนรู้" เรื่องการทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้