ReutersReuters

JAPAN:นักวิชาการแนะวิธีช่วยบีโอเจยุตินโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย

โตเกียว--19 พ.ค.--รอยเตอร์

  • คณะกรรมการเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประชุมกันในวันจันทร์ที่ผ่านมา และได้มีการเปิดเผยรายงานการประชุมออกมาในวันพฤหัสบดี โดยรายงานการประชุมแสดงให้เห็นว่า นักวิชาการหลายคนได้ให้คำแนะนำต่อนายคาสุโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เกี่ยวกับวิธีการที่ดีที่สุดในการสื่อสารถึงแนวโน้มนโยบายการเงินในอนาคต ซึ่งรวมถึงการยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นพิเศษ และการเรียกร้องให้บีโอเจยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายที่บีโอเจตั้งไว้ที่ 2% ในปัจจุบัน ทั้งนี้ นายอุเอดะกล่าวในการประชุมดังกล่าวว่า บีโอเจจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษต่อไป เพราะว่าการจะทำให้อัตราเงินเฟ้อบรรลุเป้าหมายที่ 2% ได้อย่างยั่งยืนนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

  • นายโนบุฮิโระ คิโยทากิ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันกล่าวเตือนถึงผลข้างเคียงจากการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นเวลานาน และเขาเรียกร้องให้บีโอเจยุติมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ขนาดใหญ่ เมื่ออัตราเงินเฟ้อ "เข้าสู่เสถียรภาพที่ระดับราว 1-2%" โดยเขาระบุเสริมว่า "มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพถือเป็นเครื่องมือแบบฉุกเฉินที่ใช้ในการยุติภาวะเงินฝืด และมาตรการดังกล่าวไม่ได้ส่งผลข้างเคียงในระดับแค่เพียงเล็กน้อย" โดยผลข้างเคียงดังกล่าวรวมถึงการส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งขึ้นสู่ระดับที่แพงเกินไป นอกจากนี้ เขายังระบุอีกด้วยว่า การทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ในระดับต่ำเกินไปเป็นเวลานานเกินไป จะเป็นการเปิดโอกาสให้นักเก็งกำไรโจมตีตลาดญี่ปุ่น

  • นายสึโตมุ วาตานาเบะ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยโตเกียวกล่าวในการประชุมว่า การคาดการณ์เงินเฟ้อในญี่ปุ่นได้พุ่งขึ้นสู่ระดับที่ใกล้เคียงกับของสหรัฐและยุโรป อย่างไรก็ดี ค่าแรงในญี่ปุ่นปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย ดังนั้นบีโอเจจึงควรที่จะกำหนดเป้าหมายค่าแรงแบบเป็นตัวเลข

  • นายชินอิชิ ฟุคุดะ นักวิชาการในมหาวิทยาลัยโตเกียวกล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงเพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจได้ และเขากล่าวเสริมว่า "ญี่ปุ่นไม่ได้ประสบกับภาวะเงินฝืดอีกต่อไป โดยเป็นผลจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษของบีโอเจ อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้ ศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของญี่ปุ่นได้เข้าสู่ภาวะชะงักงัน และด้วยเหตุนี้ การปฏิรูปเชิงโครงสร้างจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อที่การปรับขึ้นค่าแรงในญี่ปุ่นจะได้ดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน"--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้