ReutersReuters

USA:ชี้หุ้นบริษัทขนาดเล็กในสหรัฐอาจบ่งชี้ถึงแนวโน้มศก.ถดถอย

15 พ.ค.--รอยเตอร์

  • ดัชนี Russell 2000 สำหรับหุ้นบริษัทขนาดเล็กของสหรัฐดิ่งลงมาแล้วราว 1% จากช่วงต้นปีนี้ ถึงแม้ดัชนี S&P 500 ของตลาดหุ้นสหรัฐพุ่งขึ้นมาแล้ว 7% จากช่วงต้นปีนี้ และสิ่งนี้บ่งชี้ว่า นักลงทุนอาจจะกำลังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะประสบภาวะปั่นป่วนวุ่นวายในอนาคต เพราะว่าบริษัทขนาดเล็กมักจะมีผลกำไรจากธุรกิจภายในประเทศ ดังนั้นราคาหุ้นบริษัทขนาดเล็กจึงมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งนี้ นักลงทุนกำลังกังวลกับสัญญาณบ่งชี้บางประการถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงนี้ โดยสัญญาณดังกล่าวรวมถึงความอ่อนแอของหุ้นบริษัทขนาดเล็ก, ความแข็งแกร่งของราคาทอง และเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่อยู่ในภาวะพลิกกลับ (inverted)

  • หุ้นบริษัทขนาดเล็กได้รับแรงกดดันนับตั้งแต่เกิดวิกฤติภาคธนาคารในสหรัฐในช่วงต้นเดือนมี.ค. โดยดัชนี Russell 2000 ดิ่งลงมาแล้ว 7% นับตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. ในขณะที่นักลงทุนกังวลว่า หุ้นบริษัทขนาดเล็กอาจจะได้รับความเสียหายจากการชะลอตัวทางการปล่อยกู้ ทั้งนี้ นายเอริค รูบี หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของบริษัทนอร์ธ สตาร์ อินเวสท์เมนท์ แมเนจเมนท์กล่าวว่า นักลงทุนพยายามปรับพอร์ตลงทุนของตนเองให้สอดคล้องกับการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจ และ "การที่หุ้นบริษัทขนาดเล็กไม่ได้รับความนิยมในช่วงนี้ถือเป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ว่า นักลงทุนกำลังปรับตัวรับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังจะเกิดขึ้น" ทางด้านนายไมเคิล อาโรน หัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุนของบริษัทสเตท สตรีท โกลบัล แอดไวเซอร์สกล่าวว่า "เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายในอีก 12 เดือนข้างหน้า และหุ้นบริษัทขนาดเล็กก็มักจะปรับตัวอ่อนแอในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย"

  • หุ้นบริษัทขนาดเล็กมักจะแกว่งตัวก่อนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอดีต โดยข้อมูลจากบริษัท Strategas ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมานั้น ดัชนี Russell 2000 ปรับตัวอ่อนแอกว่าดัชนี S&P 500 ราว 4% ในช่วงเวลา 6 เดือนหลังจากวัฏจักรเศรษฐกิจแตะจุดสูงสุด ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งนี้ นักลงทุนกังวลว่า ภาวะไร้เสถียรภาพในภาคธนาคารจะสร้างความเสียหายต่อบริษัทขนาดเล็กด้วย เพราะบริษัทขนาดเล็กมักจะพึ่งพาการกู้เงินจากธนาคารระดับภูมิภาคในสหรัฐ

  • สหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติของสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจเดือนเม.ย.ระบุว่า เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กราว 67% ใช้ธนาคารขนาดเล็กหรือธนาคารระดับภูมิภาคในสหรัฐ, 17% ใช้ธนาคารขนาดกลาง และ 14% ใช้ธนาคารขนาดใหญ่ ทั้งนี้ นายซาเมียร์ ซามานา นักยุทธศาสตร์การลงทุนตลาดของสถาบันวิจัยเวลส์ ฟาร์โก (WFII) ระบุว่า วิกฤติภาคธนาคารส่งผลลบต่อบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กมากเป็นพิเศษ เพราะบริษัทเหล่านี้ไม่ได้มีทางเลือกต่าง ๆ ในการกู้เงินเหมือนกับบริษัทขนาดใหญ่ โดย WFII ได้ปรับลดอันดับความน่าลงทุนของหุ้นบริษัทขนาดเล็กของสหรัฐลงในเดือนเม.ย. โดยปรับลดลงจาก "unfavorable" สู่ "most unfavorable"

  • นักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐจับตาดูผลประกอบการของบริษัทวอลมาร์ท, โฮม ดีโปท์ และซิสโก ซิสเต็มส์ที่จะได้รับการรายงานออกมาในสัปดาห์นี้ด้วย ทั้งนี้ นักลงทุนบางรายคาดการณ์แนวโน้มในทางบวกต่อหุ้นบริษัทขนาดเล็ก โดยให้เหตุผลว่าหุ้นบริษัทขนาดเล็กมักจะพุ่งขึ้นแข็งแกร่งในช่วงที่ตลาดหุ้นเริ่มฟื้นตัว โดยข้อมูลจากบริษัทเอ็ดเวิร์ด โจนส์ระบุว่า ในช่วงที่เกิดภาวะตลาดหมี 6 ครั้งล่าสุดนั้น ดัชนี Russell 2000 ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 44.8% ในช่วง 6 เดือนหลังจากตลาดแตะจุดต่ำสุดในภาวะตลาดหมี แต่ดัชนี S&P 500 ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเพียง 32.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้