ReutersReuters

ตลาดน้ำมันนิวยอร์ค:น้ำมันดิ่งลง 2.3% ขณะตลาดวิตกศก.จีน,สหรัฐอ่อนแอ

นิวยอร์ค--12 พ.ค.--รอยเตอร์

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX ดิ่งลงมาปิดตลาดที่ระดับปิดต่ำสุดรอบ 1 สัปดาห์ในวันพฤหัสบดี ในขณะที่ความขัดแย้งทางการเมืองเรื่องเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐส่งผลให้นักลงทุนกังวลกับแนวโน้มที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันก็ได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอในจีน และจากยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นในสหรัฐด้วย ทั้งนี้ เจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐได้กล่าวเรียกร้องให้สภาคองเกรสปรับขึ้นเพดานหนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐจากระดับ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อที่รัฐบาลสหรัฐจะได้หลีกเลี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ทางด้านโฆษกทำเนียบขาวกล่าวในวันพฤหัสบดีว่า การประชุมเรื่องเพดานหนี้ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐกับผู้นำสภาคองเกรสได้ถูกเลื่อนกำหนดออกไป โดยเลื่อนไปเป็นช่วงต้นสัปดาห์หน้า จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ในวันศุกร์ที่ 12 พ.ค. ในขณะที่ผู้ช่วยของผู้นำทั้งสองฝ่ายได้เริ่มต้นหารือกันเรื่องวิธีการในการจำกัดรายจ่ายของรัฐบาลกลางสหรัฐ

  • ราคาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนมิ.ย.รูดลง 1.69 ดอลลาร์ หรือ 2.3% มาปิดตลาดที่ 70.87 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ค.ที่ตลาดกรุงลอนดอนดิ่งลง 1.43 ดอลลาร์ หรือ 1.9% มาปิดตลาดที่ 74.98 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยระดับปิดของราคาน้ำมันดิบสหรัฐและเบรนท์ในวันพฤหัสบดีถือเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. ทั้งนี้ ราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ ในขณะที่ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 102.09 ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี โดยปรับขึ้นจาก 101.41 ในช่วงท้ายวันพุธ หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 102.15 ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. หรือจุดสูงสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์ โดยดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากการที่นักลงทุนมองว่า ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาในช่วงนี้ไม่ได้สนับสนุนการคาดการณ์เรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปีนี้

  • กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐพุ่งขึ้น 22,000 ราย สู่ 264,000 รายในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 พ.ค. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2021 หรือจุดสูงสุดในรอบ 1 ปีครึ่ง และสิ่งนี้บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานอ่อนแอลง ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เฟดสามารถคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.00-5.25% ได้ต่อไปในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐยังรายงานในวันพฤหัสบดีอีกด้วยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) สำหรับอุปสงค์ขั้นสุดท้ายปรับขึ้น 2.3% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายปี ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2021 หรือต่ำที่สุดในรอบกว่า 2 ปี ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ของบริษัทริทเทอร์บุช แอนด์ แอสโซซิเอทส์ระบุว่า ราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันเป็นอย่างมากในช่วงนี้จากความไม่แน่นอนเรื่องเพดานหนี้สหรัฐ, จากความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย และจากปัญหาในภาคธนาคาร ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดภาวะสินเชื่อหดตัวอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรมน้ำมัน

  • ดัชนี KBW สำหรับหุ้นธนาคารระดับภูมิภาคของสหรัฐรูดลง 2.4% ในวันพฤหัสบดี ในขณะที่หุ้นธนาคารแพคเวสท์ แบงคอร์ปดิ่งลง 22.7% หลังจากแพคเวสท์รายงานว่า ยอดเงินฝากในธนาคารแห่งนี้รูดลง 9.5% ในสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ นายนีล แคชคารี ประธานเฟดสาขามินนิอาโปลิสกล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงเป็นเวลานานอาจจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อธนาคารพาณิชย์ แต่เฟดอาจจะมีความจำเป็นต้องทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน ถ้าหากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป

  • ตลาดน้ำมันแทบไม่ได้รับผลกระทบจากรายงานรายเดือนของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ที่คาดการณ์ว่า อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้น 2.33 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้ หรือ 2.3% ซึ่งใกล้เคียงกับระดับ +2.32 ล้านบาร์เรลต่อวันที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนที่แล้ว โดยโอเปกคาดว่า อุปสงค์น้ำมันในจีนอาจจะพุ่งขึ้น 800,000 บาร์เรลต่อวันในปีนี้ โดยปรับขึ้นจากระดับ +760,000 บาร์เรลต่อวันที่เคยคาดไว้ในเดือนที่แล้ว แต่โอเปกระบุว่าการพุ่งขึ้นของอุปสงค์ในจีนจะถูกชดเชยด้วยปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจในประเทศอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงปัญหาในการปรับขึ้นเพดานหนี้สหรัฐ--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้