ReutersReuters

EUROPE:ปธ.อีซีบีเตือนนโยบายการคลังในยุโรปอาจกระตุ้นอุปสงค์ส่วนเกิน

กรุงเทพ--2 ธ.ค.--รอยเตอร์

  • นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวเตือนในงานประชุมที่จัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ในกรุงเทพในวันนี้ว่า นโยบายการคลังของรัฐบาลบางประเทศในยุโรปอาจจะส่งผลให้เกิดอุปสงค์ส่วนเกิน และเธอกล่าวเสริมว่า นโยบายการเงินกับนโยบายการคลังจำเป็นจะต้องทำงานอย่างสอดคล้องกันเพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุล ทั้งนี้ เธอกล่าวว่า "นโยบายการคลังที่ก่อให้เกิดอุปสงค์ส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจที่เผชิญกับข้อจำกัดด้านอุปทาน อาจจะส่งผลให้ต้องมีการคุมเข้มนโยบายการเงินในระดับที่มากเกินกว่าที่จำเป็นต้องทำ" เมื่อเทียบกับในกรณีที่ไม่ได้มีการใช้นโยบายการคลังแบบนั้น

  • นางลาการ์ดกล่าวว่า อีซีบีได้วิเคราะห์มาตรการทางการคลังของรัฐบาลหลายประเทศในยุโรปในช่วงนี้ โดยเฉพาะรัฐบาลของประเทศสมาชิกยูโรโซน 19 ประเทศ และอีซีบีพบว่ามาตรการทางการคลังของบางประเทศในยุโรปอาจจะกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ส่วนเกิน

  • คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) คาดว่า เศรษฐกิจยูโรโซนอาจจะหดตัวลงในไตรมาส 4/2022 และในไตรมาสแรกของปี 2023 เนื่องจากการพุ่งขึ้นของราคาพลังงานและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลลบต่อปริมาณการจับจ่ายใช้สอย, ความสามารถในการกู้เงิน และความเชื่อมั่น

  • นางลาการ์ดกล่าวว่า "เราจำเป็นจะต้องปรับเพิ่มการลงทุนและดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เพื่อจะได้แก้ปัญหาขีดจำกัดด้านอุปทาน และเพื่อรับประกันว่า ศักยภาพทางการผลิตจะไม่ถูกลดทอนด้วยความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ปัญหานี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ และถือเป็นความไม่แน่นอนอย่างหนึ่งที่เราเผชิญอยู่" ทั้งนี้ เธอกล่าวเสริมว่า "ในโลกที่อุปสงค์จากต่างประเทศมีความไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้นนั้น เราจำเป็นจะต้องเสริมความแข็งแกร่งให้แก่อุปสงค์และอุปทานภายในประเทศ โดยผ่านทางการทำให้ประสิทธิภาพทางการผลิตเติบโตเร็วขึ้น"

  • อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนอยู่ในระดับที่สูงราว 5 เท่าของเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่อีซีบีตั้งไว้ที่ 2% ในปัจจุบัน ในขณะที่อีซีบีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 2.00% นับตั้งแต่เดือนก.ค.เป็นต้นมา ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ โดยมีแนวโน้มว่าอีซีบีจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกหลายครั้งในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เนื่องจากอาจจะต้องใช้เวลานานหลายปีก่อนที่อัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงสู่ระดับเป้าหมาย ทั้งนี้ นางลาการ์ดกล่าวว่า "สิ่งที่ผู้บริหารธนาคารกลางจำเป็นต้องทำก็คือการดำเนินนโยบายการเงินที่ช่วยยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อ และเราจำเป็นจะต้องส่งสัญญาณต่อสาธารณชน, ต่อผู้สังเกตการณ์ และต่อผู้แสดงความเห็นต่าง ๆ ว่า ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นแบบใดก็ตาม อัตราเงินเฟ้อก็จะกลับเข้าสู่เป้าหมายระยะกลางของเราภายในเวลาที่เหมาะสม"--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้