ReutersReuters

ตลาดซื้อขายดอลลาร์/เยน:ดัชนีดอลล์ขยับขึ้นขณะตลาดรอดูตัวเลขจ้างงาน

สิงคโปร์--2 ธ.ค.--รอยเตอร์

  • ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินปรับขึ้นเล็กน้อยในการซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ที่ตลาดเอเชีย แต่ยังคงเคลื่อนตัวอยู่ใกล้จุดต่ำสุดรอบ 16 สัปดาห์ที่ทำไว้เมื่อวานนี้ ในขณะที่นักลงทุนตั้งความหวังว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐใกล้จะแตะจุดสูงสุดแล้ว และสหรัฐรายงานเมื่อวานนี้ว่า ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคสหรัฐ ซึ่งครองสัดส่วนมากกว่า 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐ พุ่งขึ้น 0.8% ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นระดับที่ตรงตามความคาดหมายของนักเศรษฐศาสตร์ หลังจากปรับขึ้น 0.6% ในเดือนก.ย. ส่วนปริมาณการจับจ่ายใช้สอยที่ปรับตามภาวะเงินเฟ้อปรับขึ้น 0.5% ในเดือนต.ค. ซึ่งถือเป็นการพุ่งขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐดิ่งลง 16,000 ราย สู่ 225,000 รายในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 พ.ย. และสิ่งนี้บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐยังคงรักษาระดับความแข็งแกร่งไว้ได้

  • ดอลลาร์สหรัฐขยับลง 0.07% สู่ 135.17 เยนในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากร่วงลงแตะ 135.02 เยนในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค. หรือจุดต่ำสุดในรอบกว่า 3 เดือน ส่วนยูโรขยับลง 0.09% สู่ 1.0513 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากทะยานขึ้นแตะ 1.0539 ดอลลาร์ในวันนี้ ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. ทางด้านดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินปรับขึ้น 0.12% สู่ 104.78 ในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากดิ่งลงแตะ 104.56 เมื่อวานนี้ ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. ทั้งนี้ ปอนด์อ่อนค่าลง 0.22% สู่ 1.2236 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากพุ่งขึ้น 1.7% เมื่อวานนี้ และหลังจากทะยานขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 5 เดือนที่ 1.2311 ดอลลาร์เมื่อวานนี้ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียขยับลง 0.09% สู่ 0.6806 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 0.6847 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อวานนี้ ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย. ทางด้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ขยับขึ้น 0.05% สู่ 0.6375 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากทะยานขึ้นแตะ 0.6400 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อวานนี้ ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.

  • นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวที่สถาบันบรูคกิงส์ในกรุงวอชิงตันในวันพุธว่า เฟดอาจจะชะลอความเร็วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค. โดยเขากล่าวว่า "เราคิดว่าการชะลอความเร็วในจุดนี้จะเป็นหนทางที่ดีในการรักษาสมดุลความเสี่ยง" อย่างไรก็ดี เขากล่าวเตือนว่าการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อจะยังคงดำเนินต่อไปอีกนาน และคำถามสำคัญยังคงไม่ได้รับคำตอบ ซึ่งรวมถึงประเด็นที่ว่า อัตราดอกเบี้ยจำเป็นจะต้องปรับขึ้นจนถึงระดับใด และจำเป็นจะต้องปรับขึ้นต่อไปเป็นเวลานานเพียงใด นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกด้วยว่า การควบคุมภาวะเงินเฟ้อจะส่งผลให้เฟดต้องใช้นโยบายที่จำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเวลานานระยะหนึ่ง

  • นักลงทุนรอดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนพ.ย.ที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานออกมาในวันศุกร์นี้ เพื่อดูว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อตลาดแรงงานสหรัฐ ทั้งนี้ นางแคโรล คอง นักยุทธศาสตร์การลงทุนของธนาคารคอมมอนเวลธ์ แบงก์ ออฟ ออสเตรเลียกล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาในช่วงนี้ "ช่วยสนับสนุนการคาดการณ์ในตลาดที่ว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด (FOMC) ใกล้ที่จะยุติวัฏจักรการคุมเข้มนโยบายการเงิน" และปัจจัยดังกล่าวส่งผลลบต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงนี้ และเธอกล่าวเสริมว่า "ในระยะอันใกล้นี้ ตลาดปริวรรตเงินตราจะได้รับผลกระทบจากรายงานการจ้างงานในสหรัฐ" ซึ่งถ้าหากสหรัฐรายงานตัวเลขการจ้างงานที่อ่อนแอออกมาในวันนี้ ตัวเลขดังกล่าวก็จะส่งผลลบต่อดอลลาร์สหรัฐ

  • หลังจากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.75% ติดต่อกัน 4 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา เทรดเดอร์ในตลาดสัญญาล่วงหน้า Fed funds ก็คาดการณ์ในตอนนี้ว่า มีโอกาส 91.0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ 4.25-4.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค. และเทรดเดอร์คาดว่ามีโอกาส 9.0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค. โดยเทรดเดอร์ยังคาดการณ์อีกด้วยว่า อัตราดอกเบี้ย fed funds ซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.83% ในปัจจุบัน จะขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 4.87% ในเดือนพ.ค.ปีหน้า แทนที่จะแตะจุดสูงสุดที่ 5.06% ในเดือนมิ.ย.ปีหน้าเหมือนอย่างที่เคยคาดการณ์กันไว้ในช่วงเช้าวันพุธ--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้