ReutersReuters

กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด, มองการทยอยปรับขึ้นดบ.ยังเหมาะสมกับศก.

ประเด็นสำคัญ:
  • ลดคาดการณ์จีดีพีปี 65-66 หลังเศรษฐกิจโลกชะลอ กระทบส่งออก
  • ท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจน คาดนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ 10.5 ล้านคน
  • คาดเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้ากรอบเป้าหมายในไตรมาส 3/66
  • บาทยังมีเสถียรภาพ, เคลื่อนไหวสอดคล้องภูมิภาค

กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--รอยเตอร์

คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีมติด้วยเสียงเอกฉันท์ ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25% ตามที่โพลล์รอยเตอร์คาด โดยเห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และแนวโน้มเงินเฟ้อ

กนง.ยังเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ อย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจการเงินโลกที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า

แต่หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ คณะกรรมการฯ พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวในการแถลงข่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และคาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดได้ในปลายปีนี้ โดยภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน จะยังเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยธปท. ปรับเพิ่มคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็น 10.5 ล้านคน และ 22 ล้านคน ในปี 65 และ 66 ตามลำดับ จากเดิมคาดไว้ 9.5 ล้านคน และ 21 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจในปี 65 และ 66 เหลือ 3.2% และ 3.7% ตามลำดับ จากเดิมคาดไว้ 3.3% และ 3.8% เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง กระทบต่อการส่งออกของไทย โดยธปท.ปรับลดคาดการณ์การส่งออกเป็นเติบโต 7.4% และ 1.0% ในปี 65 และ 66 ตามลำดับ จากเดิมคาดไว้ 8.2% และ 1.1%

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะอยู่ที่ 6.3% และ 3.0% ในปี 65 และ 66 ตามลำดับ จากเดิมคาดไว้ 6.3% และ 2.6% โดยเงินเฟ้อทั่วไปผ่านจุดสูงสุดแล้วในไตรมาสที่ 3/65 และคาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในไตรมาส 3/66 ซึ่งช้ากว่าประมาณการเดิมที่คาดว่าจะกลับเข้ากรอบในไตรมาส 2/66 หลังเงินเฟ้อทั่วไปในปี 66 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเทียบกับประมาณการครั้งก่อน ซึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเป็นสำคัญ

ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยจะทยอยลดลงมาอยู่ที่ 2.6% และ 2.5% ในปี 65 และ 66 ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

"การขึ้นของเงินเฟ้อปีหน้า ไม่ได้มาจากอุปสงค์ร้องแรง หรือเศรษฐกิจฟื้นแรงกว่าคาด เป็นเงินเฟ้อที่มาจาก supply side...การดำเนินนโยบายก็ดำเนินแบบเดิมไปก่อน" นายปิติ กล่าว

เขากล่าวว่า ในช่วงหลัง ค่าเงินบาทฟื้นตัวขึ้นหลังดอลลาร์อ่อนค่าลง โดยเงินบาทยังมีเสถียรภาพและเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค

บาท/ดอลลาร์ USDTHB วันนี้แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 3 เดือน ที่ 35.23 หลังไปทำระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 16 ปี ที่ 38.455 เมื่อกลางเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ดอลลาร์อ่อนค่าลง จากการคาดการณ์ของตลาดว่า ในระยะต่อไป ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลง--จบ--

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้