ReutersReuters

IIF ชี้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีในปท.ตลาดเกิดใหม่พุ่งแตะสถิติสูงสุดเดิม

นิวยอร์ค--23 พ.ย.--รอยเตอร์

  • สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) ระบุในรายงานการสอดส่องหนี้สินโลกฉบับล่าสุดที่ออกมาในวันอังคารว่า สัดส่วนหนี้สินต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในประเทศตลาดเกิดใหม่พุ่งขึ้นสู่ 254% ของจีดีพีในไตรมาสสาม ซึ่งเท่ากับสถิติสูงสุดที่เคยทำไว้ในไตรมาส 1/2021 โดยสัดส่วนดังกล่าวได้รับแรงหนุนจากยอดขาดดุลงบประมาณ และจากเศรษฐกิจที่ชะลอการเติบโตลง ถึงแม้ว่าปริมาณหนี้สินโดยรวมในประเทศตลาดเกิดใหม่ร่วงลงสู่ 96.2 ล้านล้านดอลลาร์ในไตรมาสสาม จาก 98.7 ล้านล้านดอลลาร์ในไตรมาสสอง ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้สินต่อจีดีพีทั่วโลกร่วงลงสู่ 343% ของจีดีพีในไตรมาสสาม โดยถือเป็นการปรับลดลงเป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกัน ในขณะที่ปริมาณหนี้สินทั่วโลกดิ่งลง 6.4 ล้านล้านดอลลาร์ สู่ 290 ล้านล้านดอลลาร์ในไตรมาสสาม โดยเป็นผลจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และจากการชะลอการขายพันธบัตร

  • การพุ่งขึ้นของราคาอาหารและพลังงานส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพุ่งสูงขึ้น และส่งผลให้ต้นทุนการระดมทุนทะยานขึ้นทั่วโลก ในขณะที่รัฐบาลหลายประเทศปรับเพิ่มงบใช้จ่ายเพื่อพยุงเศรษฐกิจของประเทศตนเอง ทั้งนี้ IIF ระบุว่า ตราสารหนี้ที่มีอัตราผลตอบแทนสูงมีค่าสเปรดขยายกว้างขึ้นราว 4.00% โดยเฉลี่ยในปีนี้ แต่ตราสารหนี้เกรดน่าลงทุนมีค่าสเปรดขยายกว้างขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่านั้น

  • นายเอ็มเร ทิฟทิค ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยความยั่งยืนของ IIF ระบุในรายงานว่า "ในขณะที่ภาวะการระดมทุนทั่วโลกตึงตัวมากยิ่งขึ้น การเข้าถึงตลาดต่างประเทศก็กลายเป็นเรื่องที่ยากมากยิ่งขึ้นสำหรับผู้กู้เงินที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงหลายรายในปีนี้" ทั้งนี้ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือและผู้กำหนดนโยบายหลายรายได้กล่าวเตือนไว้แล้วว่า ประเทศกำลังพัฒนาที่มีสถานะเปราะบางจะยังคงเผชิญกับปัญหาด้านหนี้สินต่อไปอีกนาน และมีแนวโน้มที่จะมีการผิดนัดชำระหนี้มากยิ่งขึ้น

  • IIF ระบุว่า ต้นทุนการชำระหนี้ที่พุ่งสูงขึ้นจะสร้างความเสียหายมากเป็นพิเศษต่อประเทศที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ได้มีการบรรลุข้อตกลงในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 หรือ COP27 ที่อียิปต์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเป็นข้อตกลงเพื่อจัดตั้งกองทุนชดเชย "ความสูญเสียและความเสียหาย" เพื่อช่วยเหลือประเทศยากจนในการรับมือกับผลกระทบจากภัยพิบัติด้านภูมิอากาศ และได้มีการย้ำเตือนเรื่องความจำเป็นในการปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศด้วย

  • IIF ระบุในรายงานรายไตรมาสว่า ถึงแม้มีการปรับลดการกู้เงินในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หนี้สินสกุลดอลลาร์ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงในภูมิภาคลาตินอเมริกาและในทวีปแอฟริกา และ "ส่งผลให้หลายประเทศได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากความผันผวนในตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ" นอกจากนี้ บริษัทขนาดเล็กและครัวเรือนที่มีรายได้น้อยก็ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมากจากอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้นด้วย โดย IIF ระบุว่า "เนื่องจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและบริษัทขนาดเล็กพึ่งพาหนี้ระยะสั้นเป็นส่วนใหญ่ ครัวเรือนและบริษัทกลุ่มนี้จึงได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น โดยบริษัทขนาดเล็กราว 1 ใน 3 ในตลาดที่โตเต็มที่แล้วเผชิญกับความยากลำบากในการจ่ายดอกเบี้ย" ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินพุ่งขึ้นมาแล้ว 12% จากช่วงต้นปีนี้ โดยลดช่วงบวกลงหลังจากทะยานขึ้น 20% ในระหว่างปี ส่วนสกุลเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ดิ่งลงมาแล้ว 7% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐหากนับตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ โดยสกุลเงินดังกล่าวรูดลง 10% ในระหว่างปีก่อนจะลดช่วงติดลบกลับขึ้นมาได้บ้าง--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้