ReutersReuters

ตลาดน้ำมันนิวยอร์ค:น้ำมันดิบลดช่วงติดลบขณะตลาดจับตาข่าวซาอุฯ,โอเปก

นิวยอร์ค--22 พ.ย.--รอยเตอร์

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX ปิดตลาดปรับลงเล็กน้อยในวันจันทร์ โดยราคาน้ำมันดิบดิ่งลงกว่า 5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงแรกของวันจันทร์ และรูดลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 10 เดือนในระหว่างวัน หลังจากหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล (WSJ) รายงานว่า ที่ประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) จะพิจารณาเรื่องการปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันราว 500,000 บาร์เรลต่อวันในการประชุมวันที่ 4 ธ.ค. อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันลดช่วงติดลบกลับขึ้นมาได้เกือบหมดในเวลาต่อมา หลังจากเจ้าชายอับดุลอาซิซ บิน ซัลมาน รมว.พลังงานของซาอุดิอาระเบียกล่าวว่า ซาอุดิอาระเบียจะยังคงปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมัน และซาอุดิอาระเบียไม่ได้หารือเรื่องแผนการปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันกับประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มโอเปก

  • ราคาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนธ.ค.ปรับลง 35 เซนต์ มาปิดตลาดที่ 79.73 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากรูดลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 10 เดือนที่ 75.08 ดอลลาร์ในระหว่างวัน ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนม.ค.ที่ตลาดกรุงลอนดอนปรับลง 17 เซนต์ มาปิดตลาดที่ 87.45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากดิ่งลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 10 เดือนที่ 82.31 ดอลลาร์ในระหว่างวัน ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนธ.ค.ได้ครบกำหนดส่งมอบในช่วงปิดตลาดวันจันทร์ ส่วนราคาสัญญาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนม.ค.ขยับลง 7 เซนต์ มาปิดตลาดที่ 80.04 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในวันจันทร์

  • กลุ่มโอเปกพลัสเพิ่งปรับลดเป้าหมายปริมาณการผลิตน้ำมันลงในช่วงก่อนหน้านี้ และรัฐมนตรีพลังงานของซาอุดิอาระเบียเพิ่งกล่าวในเดือนนี้ว่า กลุ่มโอเปกจะยังคงใช้ความระมัดระวัง ทั้งนี้ นายบ็อบ ยอว์เกอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายสัญญาล่วงหน้าพลังงานของบริษัทมิสุโฮกล่าวว่า การปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันในช่วงที่อุปสงค์เชื้อเพลิงในจีนอยู่ในระดับต่ำ และในช่วงที่ดอลลาร์สหรัฐอยู่ในระดับแข็งแกร่ง จะยิ่งส่งผลให้ตลาดน้ำมันเข้าสู่ภาวะ contango อย่างรุนแรงยิ่งขึ้น หรือภาวะที่ราคาสัญญาน้ำมันเดือนใกล้อยู่ต่ำกว่าราคาสัญญาเดือนไกล และจะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้มีการเก็บน้ำมันไว้ในคลัง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันร่วงลงไปอีก

  • ราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ในช่วงนี้ เพราะการแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้น้ำมันมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ โดยดอลลาร์อยู่ที่ 142.12 เยน ในช่วงท้ายตลาดวันจันทร์ โดยพุ่งขึ้นจากระดับปิดตลาดวันศุกร์ที่ 140.35 เยน และการพุ่งขึ้นในวันจันทร์ถือเป็นการพุ่งขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. ในขณะที่ดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

  • นางทีน่า เติ้ง นักวิเคราะห์ของบริษัทซีเอ็มซี มาร์เก็ตส์กล่าวว่า "ราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันทั้งจากแนวโน้มอุปสงค์ที่อ่อนแอลงเพราะมาตรการควบคุมโรคโควิดในจีน และได้รับแรงกดดันจากการดีดขึ้นของดอลลาร์สหรัฐในวันจันทร์ด้วย" และเธอกล่าวเสริมว่า "นักลงทุนหลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยง ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศสำคัญต่างก็บ่งชี้ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะในอังกฤษและยูโรโซน" นอกจากนี้ นักลงทุนก็กังวลกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐด้วย หลังจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แสดงความเห็นแบบสายเหยี่ยวในสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ เทศบาลกรุงปักกิ่งของจีนประกาศเตือนในวันจันทร์ว่า กรุงปักกิ่งกำลังเผชิญกับการทดสอบครั้งร้ายแรงที่สุดสำหรับการระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะที่มีการสั่งปิดธุรกิจและโรงเรียนในบางเขตของกรุงปักกิ่ง และมีการเพิ่มความเข้มงวดในกฎระเบียบสำหรับการเดินทางเข้าเมือง หลังจากยอดผู้ติดเชื้อปรับสูงขึ้นทั้งในกรุงปักกิ่งและทั่วประเทศจีน--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้