ReutersReuters

ตลาดน้ำมันนิวยอร์ค:น้ำมันดิบดิ่งลง 1.3% ขณะจีนขยายมาตรการคุมโควิด

นิวยอร์ค--31 ต.ค.--รอยเตอร์

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX ดิ่งลงในวันศุกร์ หลังจากจีนซึ่งถือเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดในโลกขยายการใช้มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ออกไปให้ครอบคลุมเมืองใหญ่หลายเมือง อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดสัปดาห์นี้ด้วยการปรับขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว โดยราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนในสัปดาห์นี้จากความกังวลเรื่องอุปทานน้ำมัน และจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาด ทั้งนี้ เมืองใหญ่หลายเมืองในจีนปรับเพิ่มการใช้มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ในวันพฤหัสบดี โดยได้มีการปิดอาคารหลายแห่งและการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายเขต หลังจากคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติของจีนรายงานว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนารายใหม่ในจีนอยู่ที่ 1,506 รายในวันที่ 27 ต.ค. โดยทะยานขึ้นจาก 1,264 รายในวันที่ 26 ต.ค. ทางด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่า เศรษฐกิจจีนอาจเติบโตเพียง 3.2% ในปีนี้ โดยปรับลดลง 1.2% จากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนเม.ย. หลังจากเศรษฐกิจจีนเติบโต 8.1% ในปี 2021

  • ราคาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนธ.ค.รูดลง 1.18 ดอลลาร์ หรือ 1.3% มาปิดตลาดที่ 87.90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนธ.ค.ที่ตลาดกรุงลอนดอนดิ่งลง 1.19 ดอลลาร์ หรือ 1.2% มาปิดตลาดที่ 95.77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบสหรัฐปิดตลาดสัปดาห์นี้ด้วยการพุ่งขึ้นราว 3% จากสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปิดตลาดสัปดาห์นี้ด้วยการทะยานขึ้นราว 2% จากสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ ราคาสัญญาล่วงหน้าน้ำมันเบนซินของสหรัฐดิ่งลงราว 3% ในวันศุกร์ แต่ราคาสัญญาล่วงหน้าน้ำมันดีเซลของสหรัฐพุ่งขึ้นราว 5% ในวันศุกร์ และทะยานขึ้นแตะจุดสูงสุดนับตั้งแต่กลางเดือนมิ.ย. โดยราคาน้ำมันดีเซลถือเป็นราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งที่สุดในช่วงนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อชดเชยการทำชอร์ตเซล ก่อนที่สัญญาเดือนพ.ย.จะครบกำหนดส่งมอบในวันจันทร์ที่ 31 ต.ค.

  • บริษัทปิโตรไชน่าระบุว่า อุปสงค์ในเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติในจีนมีแนวโน้มปรับขึ้นในไตรมาสสี่เมื่อเทียบรายปี ในขณะที่เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน ทั้งนี้ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) จะเปิดเผยรายงานแนวโน้มน้ำมันโลกปี 2022 ในวันที่ 31 ต.ค. ในขณะที่แหล่งข่าวกล่าวว่า กลุ่มโอเปกมีแนวโน้มที่จะยังคงคาดการณ์ตามเดิมว่า อุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกจะปรับขึ้นในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งถือว่ายาวนานกว่าที่หน่วยงานอื่น ๆ ได้คาดการณ์กันไว้ ถึงแม้พลังงานทดแทนได้และรถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้

  • ราคาน้ำมันร่วงลงไม่มากนักในวันศุกร์ เนื่องจากราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในสหรัฐและเยอรมนี โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐเติบโต 2.6% ในไตรมาสสามเมื่อเทียบเป็นตัวเลขเต็มปี (annualized) ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ +2.4% หลังจากจีดีพีหดตัวลง 2 ไตรมาสติดต่อกันในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ทางด้านเยอรมนีรายงานในวันศุกร์ว่า เศรษฐกิจเยอรมนีสามารถหลีกเลี่ยงจากภาวะถดถอยได้ในไตรมาสสาม โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของเยอรมนีเติบโตขึ้น 0.3% ในไตรมาสสามเมื่อเทียบรายไตรมาส ถึงแม้โพลล์รอยเตอร์คาดว่า เศรษฐกิจเยอรมนีอาจหดตัวลง 0.2% และถึงแม้เยอรมนีเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่ระดับสูงและปัญหาด้านอุปทานพลังงาน ก่อนที่ยุโรปจะเริ่มต้นใช้มาตรการห้ามนำเข้าน้ำมันดิบรัสเซียในวันที่ 5 ธ.ค.

  • บริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์สรายงานในวันศุกร์ว่า จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของสหรัฐปรับลดลง 3 แท่น สู่ 768 แท่นในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ต.ค. แต่ปรับขึ้น 3 แท่นสำหรับช่วงเดือนต.ค. ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นรายเดือนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ค. ทั้งนี้ บริษัทน้ำมันและก๊าซขนาดยักษ์หลายแห่ง ซึ่งรวมถึงบริษัทเอ็กซอน โมบิลของสหรัฐ, เชฟรอนของสหรัฐ และเอควินอร์ของนอร์เวย์ รายงานผลกำไรไตรมาสสามที่ระดับสูงในช่วงนี้ ในขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐระบุว่า บริษัทน้ำมันยังไม่ได้ดำเนินการมากพอในการช่วยปรับลดต้นทุนพลังงานลง--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้