ReutersReuters

ตลาดน้ำมันนิวยอร์ค:น้ำมันดิบพุ่งขึ้น 3% ขณะดอลล์ดิ่งลง

นิวยอร์ค--27 ต.ค.--รอยเตอร์

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX พุ่งขึ้น 3% ในวันพุธ โดยได้รับแรงหนุนจากยอดส่งออกน้ำมันดิบสหรัฐที่พุ่งขึ้นแตะสถิติสูงสุดใหม่ และจากอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันในสหรัฐที่อยู่ในระดับสูงกว่าปกติสำหรับช่วงเวลานี้ของปี นอกจากนี้ ราคาน้ำมันก็ได้รับแรงหนุนจากการดิ่งลงของดอลลาร์สหรัฐด้วย โดยการอ่อนค่าของดอลลาร์ส่งผลให้น้ำมันมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 109.56 ในช่วงท้ายวันพุธ ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. โดยดิ่งลง 1.24% จาก 110.94 ในช่วงท้ายวันอังคาร ในขณะที่นักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะเริ่มต้นชะลอความเร็วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนธ.ค.

  • ราคาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนธ.ค.พุ่งขึ้น 2.59 ดอลลาร์ หรือ 3% มาปิดตลาดที่ 87.91 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนธ.ค.ที่ตลาดกรุงลอนดอนทะยานขึ้น 2.17 ดอลลาร์ หรือ 2.3% มาปิดตลาดที่ 95.69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

  • สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) รายงานในวันพุธว่า สต็อกน้ำมันดิบในคลังสหรัฐเพิ่มขึ้น 2.6 ล้านบาร์เรล สู่ 439.9 ล้านบาร์เรลในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ต.ค. แต่การปรับขึ้นดังกล่าวอยู่ต่ำกว่ารายงานของการปิโตรเลียมสหรัฐ (API) ที่ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐพุ่งขึ้นราว 4.5 ล้านบาร์เรลในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ต.ค. นอกจากนี้ EIA ยังรายงานอีกด้วยว่า สต็อกน้ำมันเบนซินในคลังสหรัฐดิ่งลง 1.5 ล้านบาร์เรล สู่ 207.9 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมัน distillate ในคลังสหรัฐ ซึ่งครอบคลุมทั้งน้ำมันดีเซลและน้ำมัน heating oil เพิ่มขึ้น 170,000 บาร์เรล สู่ 106.4 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ EIA รายงานอีกด้วยว่า ยอดส่งออกน้ำมันดิบสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ 5.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดใหม่ และส่งผลให้ยอดนำเข้าน้ำมันดิบสุทธิในสหรัฐดิ่งลง 719,000 บาร์เรลต่อวัน สู่สถิติต่ำสุดใหม่ที่ 1.05 ล้านบาร์เรลต่อวัน

  • เทรดเดอร์ระบุว่า ยอดส่งออกน้ำมันดิบสหรัฐได้รับแรงหนุนจากส่วนต่างที่ขยายกว้างมากยิ่งขึ้นระหว่างราคาน้ำมันดิบสหรัฐกับน้ำมันดิบเบรนท์ โดยส่วนต่างดังกล่าวอยู่ที่ระดับสูงกว่า 8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงท้ายวันอังคาร ทั้งนี้ EIA รายงานอีกด้วยว่า อัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันในสหรัฐปรับลง 0.6% สู่ 88.9% ในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ต.ค. แต่อัตรา 88.9% นี้ถือเป็นจุดสูงสุดสำหรับช่วงเวลานี้ของปีนับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา

  • นักวิเคราะห์คาดว่า อุปทานน้ำมันจะตึงตัวมากยิ่งขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ในขณะที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) จะปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันลง และยุโรปจะเริ่มใช้มาตรการห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย และจะดำเนินมาตรการที่เป็นอุปสรรคขัดขวางบริษัทขนส่งสินค้าของรัสเซียจากการเข้าถึงอุตสาหกรรมการประกันการขนส่งสินค้าทั่วโลกด้วย โดยมาตรการของยุโรปอาจจะส่งผลให้ตลาดการขนส่งสินค้าทั่วโลกหดตัวลง และปัจจัยดังกล่าวอาจจะส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นไปอีก ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายรายคาดว่า รัสเซียอาจจะปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันลง 1-2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปัจจัยดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมัน distillates โดยนักวิเคราะห์ของธนาคารเจพีมอร์แกนระบุว่า "ในช่วงก่อนถึงปี 2024 นั้น เราคาดว่าราคาน้ำมันจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากจำนวนเรือขนส่งสินค้าที่เต็มใจจะขนส่งน้ำมันรัสเซีย โดยปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบมากกว่าปัจจัยพื้นฐานด้านอุปสงค์-อุปทานในตลาดโลก และจะส่งผลให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงต่อไป"--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้