ReutersReuters

ตลาดน้ำมันนิวยอร์ค:น้ำมันดิบดิ่งลง 3.9% ขณะตลาดวิตกศก.ถดถอย

นิวยอร์ค--17 ต.ค.--รอยเตอร์

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX ดิ่งลงอย่างรุนแรงในวันศุกร์ โดยได้รับแรงกดดันจากความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และจากอุปสงค์น้ำมันที่อ่อนแอ โดยเฉพาะในจีน โดยปัจจัยลบเหล่านี้บดบังแรงหนุนที่ราคาน้ำมันได้รับจากการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) ปรับลดเป้าหมายปริมาณการผลิตน้ำมันลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ จีนซึ่งถือเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดในโลก ยังคงใช้นโยบายความอดทนเป็นศูนย์ต่อโรคโควิด-19 ในการควบคุมการระบาดของโรคอย่างเข้มงวด หลังจากผ่านพ้นช่วงวันหยุดยาวในช่วงต้นเดือนต.ค. โดยการที่จีนทำเช่นนี้ส่งผลลบเป็นอย่างมากต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์น้ำมันในจีน

  • ราคาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนพ.ย.รูดลง 3.50 ดอลลาร์ หรือ 3.9% มาปิดตลาดที่ 85.61 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนธ.ค.ที่ตลาดกรุงลอนดอนดิ่งลง 2.94 ดอลลาร์ หรือ 3.1% มาปิดตลาดที่ 91.63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบสหรัฐปิดตลาดสัปดาห์นี้ด้วยการดิ่งลง 7.6% จากสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนเบรนท์รูดลง 6.4% จากสัปดาห์ที่แล้ว ทางด้านบริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์สรายงานในวันศุกร์ว่า จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ใช้งานในสหรัฐพุ่งขึ้น 8 แท่น สู่ 610 แท่นในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ต.ค. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2020

  • กระทรวงแรงงานสหรัฐเพิ่งรายงานในวันพฤหัสบดีว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐปรับขึ้น 0.4% ในเดือนก.ย.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากปรับขึ้น 0.1% ในเดือนส.ค.เมื่อเทียบรายเดือน และอยู่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ +0.2% สำหรับเดือนก.ย. ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานปรับขึ้น 0.6% ในเดือนก.ย.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากปรับขึ้น 0.6% ในเดือนส.ค. โดยได้รับแรงหนุนจากค่าเช่าที่พุ่งสูงขึ้นในเดือนก.ย. ทางด้านดัชนี CPI พื้นฐานแบบเทียบรายปีทะยานขึ้น 6.6% ในเดือนก.ย. ซึ่งถือเป็นการทะยานขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 1982 หรือครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี หลังจากปรับขึ้น 6.3% ในเดือนส.ค. โดยรายงานตัวเลขนี้ช่วยสนับสนุนการคาดการณ์ที่ว่า อัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปเป็นเวลานาน และอาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมิชิแกนรายงานในวันศุกร์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐปรับขึ้นจาก 58.6 ในเดือนก.ย. สู่ 59.8 ในเดือนต.ค. แต่การคาดการณ์เงินเฟ้อสำหรับช่วง 1 ปีข้างหน้าพุ่งขึ้นจาก 4.7% ในเดือนก.ย. สู่ 5.1% ในเดือนต.ค. และการคาดการณ์เงินเฟ้อสำหรับช่วง 5 ปีข้างหน้าปรับขึ้นจาก 2.7% ในเดือนก.ย. สู่ 2.9% ในเดือนต.ค.

  • นายฟิล ฟลินน์ นักวิเคราะห์ของบริษัทไพรซ์ ฟิวเจอร์ส กรุ๊ปกล่าวว่า การปรับขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค "ถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลลบต่อราคาน้ำมัน เพราะสิ่งนี้หมายความว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีความจำเป็นต้องกดดันผู้บริโภค และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงอย่างรุนแรงกว่านี้อีก และปัจจัยดังกล่าวก็ส่งผลบวกต่อดอลลาร์สหรัฐด้วย" ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 113.31 ในช่วงท้ายวันศุกร์ โดยแข็งค่าขึ้นจาก 112.51 ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี โดยการแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้น้ำมันมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ

  • องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ประกาศเตือนในวันพฤหัสบดีว่า เศรษฐกิจโลกอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย และ IEA ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันสำหรับปีนี้และปีหน้า โดยคาดว่า อุปสงค์น้ำมันอาจปรับขึ้นเพียง 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้ โดยปรับลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมราว 60,000 บาร์เรลต่อวัน และ IEA คาดว่า อุปสงค์น้ำมันอาจปรับขึ้นเพียง 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีหน้า โดยปรับลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมราว 470,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ IEA ยังประเมินอีกด้วยว่า การที่กลุ่มโอเปกพลัสผลิตน้ำมันต่ำกว่าโควต้าในช่วงที่ผ่านมา หมายความว่าการปรับลดเป้าหมายการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัสอาจจะส่งผลให้ทางกลุ่มปรับลดปริมาณการผลิตลงจริงเพียง 1 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่านั้น ทั้งนี้ คณะกรรมการการค้าสัญญาล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ของสหรัฐ (CFTC) รายงานว่า ผู้จัดการกองทุนปรับเพิ่มการถือครองสถานะซื้อสุทธิในสัญญาล่วงหน้าและออปชั่นน้ำมันดิบสหรัฐราว 20,215 สัญญา สู่ 194,780 สัญญาในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ต.ค.--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้