ReutersReuters

ตลาดน้ำมันนิวยอร์ค:วิตกศก.กดน้ำมันดิบปิดดิ่งลง 1.12%

นิวยอร์ค--30 ก.ย.--รอยเตอร์

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX ดิ่งลงในวันพฤหัสบดีหลังจากแกว่งตัวผันผวนในระหว่างวัน ทางด้านราคาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้นเหนือระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ในช่วงแรก ก่อนจะรูดลงในเวลาต่อมา โดยราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลง ถึงแม้มีการคาดการณ์กันว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) อาจจะตัดสินใจปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลงในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ ราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันจากภัยคุกคามที่ลดลงจากพายุเฮอริเคนเอียนด้วย ในขณะที่มีการคาดการณ์กันว่า การผลิตน้ำมันของสหรัฐในอ่าวเม็กซิโกจะฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับเดิมได้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า หลังจากมีการปิดการผลิตน้ำมันของสหรัฐในอ่าวเม็กซิโกราว 158,000 บาร์เรลต่อวันในวันพุธเพราะพายุเฮอริเคนเอียน

  • ราคาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนพ.ย.ดิ่งลง 92 เซนต์ หรือ 1.12% มาปิดตลาดที่ 81.23 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนพ.ย.ที่ตลาดกรุงลอนดอนร่วงลง 83 เซนต์ มาปิดตลาดที่ 88.49 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดของวันที่ 90.12 ดอลลาร์ ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบยังคงมีแนวโน้มว่าอาจจะปิดตลาดสัปดาห์นี้ในแดนบวก หลังจากปิดตลาดรายสัปดาห์ในแดนลบมานาน 4 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยราคาน้ำมันสามารถดีดขึ้นจากจุดต่ำสุดรอบ 9 เดือนได้ในช่วงต้นสัปดาห์นี้ โดยได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ และจากสต็อกเชื้อเพลิงในคลังสหรัฐที่ดิ่งลงอย่างรุนแรงเกินคาด

  • แหล่งข่าวกล่าวว่า ผู้นำของกลุ่มโอเปกพลัสได้เริ่มต้นหารือกันเรื่องการปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันในการประชุมครั้งถัดไป ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 5 ต.ค. โดยแหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวว่า กลุ่มโอเปกพลัสมีแนวโน้มที่จะปรับลดปริมาณการผลิตลง ส่วนแหล่งข่าวอีกสองรายกล่าวว่า สมาชิกสำคัญในกลุ่มโอเปกพลัสได้หารือกันในเรื่องนี้ นอกจากนี้ ยังมีข่าวออกมาในสัปดาห์นี้อีกด้วยว่า รัสเซียมีแนวโน้มที่จะเสนอให้กลุ่มโอเปกพลัสปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันลงราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ นายเคร็ก เออร์แลม นักวิเคราะห์ตลาดของบริษัท OANDA กล่าวว่า "เนื่องจากตลาดน้ำมันเผชิญกับความไม่แน่นอนเป็นอย่างมากในตอนนี้ ดังนั้นการที่ราคาน้ำมันแกว่งตัวผันผวนก็อาจจะกลายเป็นเรื่องปกติในสัปดาห์หน้า นอกจากว่าแหล่งข่าวในกลุ่มโอเปกพลัสจะระบุอย่างชัดเจนว่า กลุ่มโอเปกพลัสจะปรับลดเป้าหมายปริมาณการผลิตน้ำมันลงมากเพียงใด และการปรับลดเป้าหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อปริมาณการผลิตที่แท้จริง หลังจากโอเปกพลัสผลิตน้ำมันต่ำกว่าโควต้าอยู่แล้วในช่วงที่ผ่านมา"

  • นายไรอัน ดูเซค ผู้อำนวยการฝ่ายที่ปรึกษาความเสี่ยงด้านสินค้าโภคภัณฑ์ในบริษัทออพพอร์ทูนกล่าวว่า ตลาดน้ำมันเผชิญกับทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบในตอนนี้ โดยราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันจากการดิ่งลงของอุปสงค์น้ำมัน ซึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แต่ตลาดก็ได้รับแรงหนุนในเวลาเดียวกันจากอุปทานน้ำมันที่ตึงตัว ทั้งนี้ ในส่วนของจีนนั้น มีการคาดการณ์กันว่าปริมาณการเดินทางในช่วงวันหยุดยาวที่กำลังจะมาถึงจะดิ่งลงแตะจุดต่ำสุดรอบหลายปี เนื่องจากนโยบายความอดทนเป็นศูนย์ต่อโรคโควิด-19 ของรัฐบาลจีนจะส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากอยู่บ้าน และเนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจของจีนส่งผลลบต่อปริมาณการจับจ่ายใช้สอยด้วย

  • ราคาน้ำมันอาจจะได้รับแรงหนุน ถ้าหากสหรัฐประกาศมาตรการคว่ำบาตรใหม่ต่อบริษัทต่าง ๆ ที่ช่วยเหลืออิหร่านในการขายน้ำมัน ทั้งนี้ นายเออร์แลมกล่าวว่า "ผมคิดว่าเทรดเดอร์คาดการณ์กันในตอนนี้ว่า แทบไม่มีความเป็นไปได้แล้วที่จะมีการบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน"--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้