ReutersReuters

ตลาดน้ำมันนิวยอร์ค:น้ำมันดิบพุ่งขึ้น 4.7% ขณะสต็อกเชื้อเพลิงดิ่งลง

นิวยอร์ค--29 ก.ย.--รอยเตอร์

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX พุ่งขึ้นในวันพุธเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน ในขณะที่ดอลลาร์สหรัฐดิ่งลง และการอ่อนค่าของดอลลาร์ช่วยให้น้ำมันมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันก็ได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากรายงานที่ระบุว่า สต็อกเชื้อเพลิงในคลังสหรัฐดิ่งลงอย่างรุนแรงเกินคาด และอุปสงค์ของผู้บริโภคฟื้นตัวขึ้นด้วย ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 113.03 ในช่วงท้ายวันพุธ โดยดิ่งลงจาก 114.14 ในช่วงท้ายวันอังคาร หลังจากทะยานขึ้นแตะ 114.78 ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2002 หรือจุดสูงสุดรอบ 20 ปี

  • ราคาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนพ.ย.ทะยานขึ้น 3.65 ดอลลาร์ หรือ 4.7% มาปิดตลาดที่ 82.15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนพ.ย.ที่ตลาดกรุงลอนดอนพุ่งขึ้น 3.05 ดอลลาร์ หรือ 3.5% มาปิดตลาดที่ 89.32 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

  • ราคาน้ำมันดิบดิ่งลงมาแล้วกว่า 22% ในไตรมาส 3 และนักวิเคราะห์ก็มองว่า ราคาน้ำมันดิบอาจจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว เนื่องจากอุปสงค์น้ำมันในจีนส่งสัญญาณฟื้นตัว และการขายน้ำมันออกจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐใกล้จะสิ้นสุดลง โดยนางรีเบคกา บาบิน เทรดเดอร์พลังงานของบริษัทซีไอบีซี ไพรเวท เวลธ์ ยูเอสกล่าวว่า "ดิฉันคิดว่าราคาน้ำมันกำลังจะผ่านพ้นจุดต่ำสุด แต่ราคาน้ำมันจะยังคงแกว่งตัวผันผวนมากต่อไป"

  • สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) รายงานในวันพุธว่า อุปสงค์น้ำมันของผู้บริโภคสหรัฐฟื้นตัวขึ้นในสัปดาห์ล่าสุด แต่อุปสงค์ในผลิตภัณฑ์น้ำมันในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมายังคงร่วงลง 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน โดย EIA ได้รายงานอีกด้วยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 215,000 บาร์เรล สู่ 430.6 ล้านบาร์เรลในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ก.ย. ซึ่งสวนทางกับโพลล์รอยเตอร์ที่คาดว่า สต็อกน้ำมันดิบอาจปรับขึ้น 443,000 บาร์เรล ส่วนสต็อกน้ำมันเบนซินดิ่งลง 2.4 ล้านบาร์เรล สู่ 212.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ล่าสุด และสต็อกน้ำมัน distillate รูดลง 2.9 ล้านบาร์เรล สู่ 114.4 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ การปิดโรงกลั่นน้ำมันบางแห่งเป็นการชั่วคราวส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันในสหรัฐดิ่งลง 3% สู่ 90.6% ในสัปดาห์ล่าสุด แต่ระดับ 90.6% นี้ยังคงถือเป็นจุดสูงสุดเมื่อเทียบกับสัปดาห์เดียวกันในปีก่อน ๆ นับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา โดยอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันที่ระดับสูงนี้ได้รับแรงหนุนมาจากความต้องการใช้น้ำมันทั้งในสหรัฐและต่างประเทศ

  • โกลด์แมน แซคส์ได้ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันในปีหน้าลงเนื่องจากคาดว่าอุปสงค์จะชะลอตัวลง และดอลลาร์แข็งค่าขึ้น แต่การที่อุปทานน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำเกินคาดช่วยตอกย้ำมุมมองเชิงบวกต่อราคาน้ำมันในระยะยาว ทั้งนี้ ธนาคารโกลด์แมน แซคส์ได้ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันสำหรับปีหน้าลง 17.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลโดยเฉลี่ย ถึงแม้ธนาคารคาดว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนในตลาดน้ำมันทั่วโลกในไตรมาส 4 ของปีนี้และในปีหน้าก็ตาม--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้