ReutersReuters

ตลาดน้ำมันนิวยอร์ค:น้ำมันดิบดิ่งลง 5.5% ขณะตลาดวิตกอุปสงค์จะลดลง

นิวยอร์ค--31 ส.ค.--รอยเตอร์

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX ดิ่งลง 5.5% ในวันอังคาร ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์รูดลงอย่างรุนแรงที่สุดในรอบราว 1 เดือน โดยราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่ว่า อุปสงค์น้ำมันอาจจะปรับลดลงในอนาคต เนื่องจากธนาคารกลางทั่วโลกกำลังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากข่าวที่ว่า การส่งออกน้ำมันดิบของอิรักไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบในอิรัก ทั้งนี้ ธนาคารกลางฮังการีประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย base rate 1.00% สู่ 11.75% ในขณะที่นายมาดิส มุลเลอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางเอสโตเนียกล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.75% ควรจะเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) พิจารณาในการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 8 ก.ย. ทางด้านสำนักงานสถิติของรัฐบาลกลางเยอรมนีรายงานในวันอังคารว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนีในแบบที่ปรับให้สอดคล้องกับประเทศอื่น ๆ ในสหภาพยุโรป (HICP) พุ่งขึ้น 8.8% ในเดือนส.ค.เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับขึ้น 8.5% ในเดือนก.ค. โดยตัวเลขของเดือนส.ค.ถือเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบเกือบ 50 ปี โดยงานตัวเลขนี้จะช่วยสนับสนุนให้อีซีบีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ในการประชุมวันที่ 8 ก.ย.

  • ราคาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนต.ค.ดิ่งลง 5.37 ดอลลาร์ หรือ 5.5% มาปิดตลาดที่ 91.64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนต.ค.ที่ตลาดกรุงลอนดอนรูดลง 5.78 ดอลลาร์ หรือ 5.5% มาปิดตลาดที่ 99.31 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากรูดลงแตะจุดต่ำสุดของวันที่ 97.55 ดอลลาร์ โดยสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์เดือนต.ค.จะครบกำหนดส่งมอบในวันพุธนี้ ในขณะที่ราคาสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์เดือนพ.ย.ปิดรูดลง 4.9% สู่ 97.84 ดอลลาร์ในวันอังคาร ทั้งนี้ ราคาสัญญาล่วงหน้าน้ำมันเบนซินของสหรัฐปิดตลาดที่ 2.6944 ดอลลาร์ต่อแกลลอนในวันอังคาร ซึ่งถือเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดสงครามยูเครน

  • ราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากการแข็งค่าของดอลลาร์ โดยดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 108.76 ในช่วงท้ายวันอังคาร โดยแข็งค่าขึ้นจาก 108.65 ในช่วงท้ายวันจันทร์ หลังจากเพิ่งพุ่งขึ้นแตะ 109.48 ในวันจันทร์ ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2002 หรือจุดสูงสุดในรอบ 20 ปี ในขณะที่เทรดเดอร์ในตลาดสัญญาล่วงหน้า Fed funds คาดการณ์ว่า มีโอกาส 74.5% ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ 3.00-3.25% ในการประชุมเดือนก.ย. โดยปรับขึ้นจากโอกาสราว 66.5% ที่เคยคาดไว้ก่อนการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันอังคาร ทั้งนี้ หลังจากตลาด NYMEX ปิดทำการในวันอังคาร การปิโตรเลียมสหรัฐ (API) ซึ่งเป็นหน่วยงานของเอกชน ได้เปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันสหรัฐประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ส.ค. โดยระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบในคลังสหรัฐเพิ่มขึ้นราว 593,000 บาร์เรล, สต็อกน้ำมันเบนซินในคลังสหรัฐดิ่งลงราว 3.4 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมัน distillate รูดลงราว 1.7 ล้านบาร์เรล

  • ราคาน้ำมันดิ่งลง หลังจากบริษัท SOMO ของรัฐบาลอิรักระบุว่า การส่งออกน้ำมันของอิรักไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบในอิรัก และ SOMO ระบุอีกด้วยว่า อิรักสามารถปรับเพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันสู่ยุโรปได้ด้วย ถ้าหากยุโรปต้องการซื้อน้ำมันเพิ่มเติมจากอิรัก ทางด้านแหล่งข่าวกล่าวว่า การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในตลาดเอเชียส่งผลให้อิรักปรับเปลี่ยนเส้นทางการส่งออกน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา และอิรักได้เริ่มปรับเพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันสู่ยุโรปในเดือนมิ.ย. ในขณะที่จีนกับอินเดียปรับเพิ่มปริมาณการซื้อน้ำมันจากรัสเซีย ทั้งนี้ เกิดเหตุการณ์ปะทะกันในกรุงแบกแดดของอิรักระหว่างมุสลิมนิกายชีอะห์กลุ่มต่าง ๆ ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ก่อนที่เหตุการณ์จะคลี่คลายเมื่อนายมอคตาดา อัล-ซาดร์ ผู้นำมุสลิมนิกายชีอะห์สั่งให้กลุ่มผู้สนับสนุนเขาเดินทางกลับบ้านในวันอังคาร

  • ราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันเพิ่มเติม เมื่อบริษัทก๊าซพรอม เนฟท์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำมันที่เติบโตเร็วที่สุดในรัสเซียประกาศว่า ทางบริษัทวางแผนจะปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันที่เขตซากรินในภาคตะวันตกของไซบีเรียขึ้นเป็นสองเท่า โดยปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงกว่า 110,000 บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ นักลงทุนรอดูการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) ในวันที่ 5 ก.ย. หลังจากซาอุดิอาระเบียส่งสัญญาณในวันจันทร์ที่ 22 ส.ค.ว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) อาจจะปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมัน ถ้าหากอิหร่านบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับชาติตะวันตก และอิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันดิบสู่ตลาดโลกได้อีกครั้ง--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้