ReutersReuters

USA:สหรัฐเผยดัชนี PCE พุ่งขึ้น 6.8% ในมิ.ย.,สูงสุดรอบ 40 ปี

วอชิงตัน--1 ส.ค.--รอยเตอร์

  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานในวันศุกร์ว่า ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคสหรัฐ ซึ่งครองสัดส่วนสูงกว่า 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐ พุ่งขึ้น 1.1% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ +0.9% หลังจากปรับขึ้น 0.3% ในเดือนพ.ค. ส่วนดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พุ่งขึ้น 1.0% ในเดือนมิ.ย.เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งถือเป็นการพุ่งขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2005 หลังจากปรับขึ้น 0.6% ในเดือนพ.ค. ทางด้านดัชนี PCE แบบเทียบรายปีทะยานขึ้น 6.8% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งถือเป็นการทะยานขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 1982 หรือครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 40 ปี หลังจากปรับขึ้น 6.3% ในเดือนพ.ค.เมื่อเทียบรายปี ทั้งนี้ ดัชนี PCE พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานปรับขึ้น 0.6% ในเดือนมิ.ย.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากปรับขึ้น 0.3% ในเดือนพ.ค. ส่วนดัชนี PCE พื้นฐานแบบเทียบรายปีพุ่งขึ้น 4.8% ในเดือนมิ.ย. หลังจากทะยานขึ้น 4.7% ในเดือนพ.ค. โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มักจะจับตามองดัชนี PCE เหล่านี้เพื่อใช้เป็นมาตรวัดภาวะเงินเฟ้อ

  • ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในเดือนมิ.ย.ได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันเบนซินและราคาผลิตภัณฑ์พลังงานอื่น ๆ และได้รับแรงหนุนจากการที่ผู้บริโภคใช้จ่ายเงินมากยิ่งขึ้นในการซื้อยานยนต์และจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วย ทั้งนี้ การพุ่งขึ้นของราคาในเดือนมิ.ย.ส่งผลให้ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในแบบที่ปรับตามภาวะเงินเฟ้อขยับขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนมิ.ย. หลังจากร่วงลง 0.3% ในเดือนพ.ค. อย่างไรก็ดี มีสัญญาณบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจจะผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว หลังจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนรายงานในวันศุกร์ว่า ผู้บริโภคสหรัฐปรับลดการคาดการณ์เงินเฟ้อลงในเดือนก.ค. โดยผู้บริโภคคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงหนึ่งปีข้างหน้าอาจอยู่ที่ 5.2% ซึ่งถือเป็นตัวเลขคาดการณ์ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. และปรับลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 5.3% ในเดือนมิ.ย.

  • กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันศุกร์ว่า ดัชนีต้นทุนการจ้างงาน (ECI) ของสหรัฐพุ่งขึ้น 1.3% ในไตรมาสสอง หลังจากทะยานขึ้น 1.4% ในไตรมาสแรก และอยู่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ +1.2% สำหรับไตรมาสสอง โดยดัชนี ECI ถือเป็นมาตรวัดแรงงานส่วนเกินในตลาดแรงงาน และถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เนื่องจากตัวเลขนี้ปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพของงานและองค์ประกอบของตำแหน่งงาน ทั้งนี้ ต้นทุนแรงงานพุ่งขึ้น 5.1% ในไตรมาสสองเมื่อเทียบรายปี ซึ่งถือเป็นการพุ่งขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สหรัฐเริ่มจัดทำตัวเลขนี้ในปี 2001 เป็นต้นมา หลังจากปรับขึ้น 4.5% ในไตรมาสแรกเมื่อเทียบรายปี อย่างไรก็ดี ต้นทุนแรงงานในแบบที่ปรับตามภาวะเงินเฟ้อดิ่งลง 3.6% ในไตรมาสสองเมื่อเทียบรายปี

  • การพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งของต้นทุนแรงงานในไตรมาส 2 อาจจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงต่อไป และอาจจะส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวต่อไป โดยนางแนนซี แวนเดน ฮูเทน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สหรัฐของบริษัทอ็อกซ์ฟอร์ด อิโคโนมิคส์กล่าวว่า "ตัวเลขต้นทุนการจ้างงานในไตรมาส 2 ไม่ได้บ่งชี้ว่า ค่าแรงกำลังชะลอการเติบโต และตัวเลขดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% อีกครั้งในการประชุมเดือนก.ย." ทั้งนี้ ต้นทุนการจ้างงานได้รับแรงหนุนจากค่าแรงที่พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยค่าแรงและเงินเดือนทะยานขึ้น 1.4% ในไตรมาสสอง หลังจากปรับขึ้น 1.2% ในไตรมาสแรก ส่วนค่าแรงแบบเทียบรายปีพุ่งขึ้น 5.3% ในไตรมาสสอง ซึ่งถือเป็นการพุ่งขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการจัดทำตัวเลขนี้ในปี 2001 เช่นกัน

  • ค่าแรงได้รับแรงหนุนหลักจากภาคเอกชน โดยค่าแรงและเงินเดือนในภาคเอกชนพุ่งขึ้น 1.6% ในไตรมาสสอง หลังจากปรับขึ้น 1.3% ในไตรมาสเดือนม.ค.-มี.ค. ส่วนค่าแรงภาคเอกชนแบบเทียบรายปีพุ่งขึ้น 5.7% ในไตรมาสสอง ซึ่งถือเป็นการทำสถิติสูงสุดใหม่เช่นกัน ทั้งนี้ สวัสดิการปรับขึ้น 1.2% ในไตรมาสสอง และพุ่งขึ้น 4.8% ในไตรมาสสองเมื่อเทียบรายปี--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้