ReutersReuters

USA:สหรัฐเผยศก.หดตัว 0.9% ใน Q2,บ่งชี้ศก.ใกล้ถดถอย

วอชิงตัน--1 ส.ค.--รอยเตอร์

  • รัฐบาลสหรัฐรายงานในวันพฤหัสบดีว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลงอย่างพลิกความคาดหมายในไตรมาสสอง และสิ่งนี้บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจใกล้ที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐหดตัวลง 0.9% ในไตรมาสสองเมื่อเทียบเป็นตัวเลขเต็มปี (annualized) หลังจากหดตัวลง 1.6% ในไตรมาสแรก และสวนทางกับโพลล์รอยเตอร์ที่คาดว่า จีดีพีอาจเติบโต 0.5% ในไตรมาสสอง อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์, ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และทำเนียบขาวระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย เมื่อพิจารณาจากมาตรวัดกิจกรรมในวงกว้าง ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลง 1.3% ในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งเท่ากับว่าเศรษฐกิจได้ถดถอยลงในทางเทคนิค อย่างไรก็ดี สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติของสหรัฐ (NBER) ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่เป็นผู้ตัดสินอย่างเป็นทางการเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ ได้ให้คำจำกัดความของภาวะเศรษฐกิจถดถอยว่าหมายถึงภาวะที่ "กิจกรรมทางเศรษฐกิจในวงกว้างปรับลดลงอย่างสำคัญเป็นเวลานานหลายเดือน และมักจะปรากฏให้เห็นเด่นชัดในด้านการผลิต, การจ้างงาน, รายได้ที่แท้จริง และเครื่องบ่งชี้อื่น ๆ"

  • ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคสหรัฐ ซึ่งครองสัดส่วนสูงกว่า 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐปรับขึ้น 1.0% ในไตรมาสสอง ซึ่งถือเป็นอัตราที่เชื่องช้าที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2/2020 หลังจากปริมาณการจับจ่ายใช้สอยปรับขึ้น 1.8% ในไตรมาสแรก ในขณะที่ยอดซื้อสินค้าร่วงลงในไตรมาสสอง โดยเฉพาะยอดซื้ออาหารเนื่องจากราคาพุ่งสูง นอกจากนี้ ผู้บริโภคก็ปรับลดการซื้อสินค้าเพื่อนันทนาการ, ยานพาหนะ และเฟอร์นิเจอร์ลงด้วย แต่ผู้บริโภคใช้จ่ายเงินในร้านอาหาร, บาร์ และโรงแรมเพิ่มมากขึ้นในไตรมาสสอง และสิ่งนี้บ่งชี้ว่า ผู้บริโภคได้หันไปใช้จ่ายเงินในภาคบริการมากยิ่งขึ้น โดยปริมาณการจับจ่ายของผู้บริโภคส่งผลบวกราว 0.7% ต่อจีดีพีสหรัฐในไตรมาสสอง

  • รายจ่ายทางธุรกิจในสหรัฐหดตัวลงในไตรมาสสอง โดยได้รับแรงกดดันจากการลงทุนที่อ่อนแอในอุปกรณ์และโครงสร้างนอกภาคที่อยู่อาศัย ทางด้านรายจ่ายของภาครัฐบาลยกเว้นอาวุธได้รับแรงกดดันจากการที่คลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของสหรัฐปล่อยน้ำมันดิบออกจากคลัง 72.3 ล้านบาร์เรลเพื่อกดดันราคาน้ำมันเบนซินให้ร่วงลง โดยยอดใช้จ่ายโดยรวมของภาครัฐบาลหดตัวลงเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน และปัจจัยนี้ส่งผลลบราว 0.3% ต่อจีดีพีในไตรมาสสอง ทั้งนี้ ภาคธุรกิจชะลอการปรับเพิ่มสต็อกสินค้าคงคลังในไตรมาสสอง โดยเป็นผลจากภาวะขาดแคลนรถยนต์อย่างต่อเนื่อง และปัจจัยนี้ก็ส่งผลให้ภาคสต็อกสินค้าคงคลังส่งผลลบ 2.01% ต่อจีดีพีในไตรมาสสอง อย่างไรก็ดี จีดีพีได้รับแรงหนุน 1.43% จากยอดขาดดุลการค้าที่หดแคบลงในไตรมาสสอง โดยเป็นผลจากยอดส่งออกที่สูงเป็นประวัติการณ์ โดยก่อนหน้านี้ตัวเลขภาคการค้าเคยส่งผลลบต่อจีดีพีมานาน 7 ไตรมาสติดต่อกัน

  • มาตรวัดอัตราเงินเฟ้อในวงกว้างของสหรัฐพุ่งขึ้น 8.2% ในไตรมาสสอง ซึ่งถือเป็นอัตราที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 1981 และเทียบกับอัตรา 8.0% ในไตรมาสแรก ส่วนรายได้สุทธิของภาคครัวเรือนสหรัฐที่ปรับตามอัตราเงินเฟ้อปรับลง 0.5% ในไตรมาสสอง หลังจากดิ่งลง 7.8% ในไตรมาสแรก ทางด้านปริมาณเงินออมในสหรัฐปรับลงจาก 1.02 ล้านล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรก สู่ 9.684 แสนล้านดอลลาร์ในไตรมาสสอง ซึ่งยังคงถือเป็นระดับสูง ทั้งนี้ มาตรวัดอุปสงค์ภายในประเทศของสหรัฐ ซึ่งไม่รวมภาคการค้า, สต็อกสินค้าคงคลัง และรายจ่ายของรัฐบาลทรงตัวในไตรมาสสอง ส่วนการลงทุนในภาคที่อยู่อาศัยหดตัวลงในไตรมาส 2 ในอัตราที่รุนแรงที่สุดในรอบ 2 ปี โดยได้รับแรงกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจำนอง ในขณะที่ปัจจัยดังกล่าวส่งผลลบต่อยอดขายบ้านและค่าคอมมิชชั่นของโบรกเกอร์ด้วย

  • นายซาล กวาเทียรี นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทบีเอ็มโอ แคปิตัล มาร์เก็ตส์กล่าวว่า "เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญความเสี่ยงเป็นอย่างมากในการเข้าสู่ภาวะถดถอย และปัจจัยนี้อาจจะส่งผลให้เฟดตัดสินใจไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่อีกครั้งในการประชุมเดือนก.ย." ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐลดลง 5,000 ราย สู่ 256,000 รายในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ก.ค. หลังจากเพิ่งพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 8 เดือนที่ 261,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ทางด้านยอดผู้ได้รับสวัสดิการว่างงานอย่างต่อเนื่องปรับลดลง 25,000 ราย สู่ 1.359 ล้านรายในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 ก.ค. ซึ่งอยู่ใกล้กับจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1969--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้