ReutersReuters

ตลาดเงินนิวยอร์ค:ดอลล์แข็งค่าขณะตลาดวิตกศก.อาจถดถอย

นิวยอร์ค--27 ก.ค.--รอยเตอร์

  • ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินแข็งค่าขึ้นในวันอังคาร หลังจากอ่อนค่าลงมานาน 3 วันติดต่อกัน โดยดัชนีดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในขณะที่นักลงทุนรอดูผลการประชุมกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะออกมาในวันพุธนี้ นอกจากนี้ ความกังวลเรื่องอุปทานพลังงานก็กดดันยูโรให้ดิ่งลงในวันอังคารด้วย และปัจจัยนี้มีส่วนช่วยหนุนดัชนีดอลลาร์ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ได้อนุมัติแผนฉุกเฉินสำหรับการปรับลดอุปสงค์ก๊าซธรรมชาติในวันอังคาร หลังจากบรรลุข้อตกลงกันในเรื่องการจำกัดปริมาณการปรับลดสำหรับบางประเทศ โดยแผนนี้มีจุดประสงค์เพื่อรับมือกับความเป็นไปได้ที่รัสเซียอาจจะปรับลดการส่งออกก๊าซธรรมชาติลงไปอีกในอนาคต ทางด้านบริษัทก๊าซพรอมของรัสเซียแถลงในวันจันทร์ว่า ปริมาณการจัดส่งก๊าซธรรมชาติผ่านทางท่อส่งนอร์ด สตรีม 1 จากรัสเซียสู่เยอรมนีจะดิ่งลงสู่ 33 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือราว 20% ของกำลังการจัดส่ง ตั้งแต่เวลา 11.00 น.ของวันพุธนี้ตามเวลาไทยเป็นต้นไป

  • ดอลลาร์อยู่ที่ 136.91 เยน ในช่วงท้ายตลาดวันอังคาร โดยแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดวันจันทร์ที่ 136.66 เยน และเทียบกับระดับ 139.38 เยนที่ทำไว้ในวันที่ 14 ก.ค. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 1998 หรือจุดสูงสุดในรอบเกือบ 24 ปี ส่วนยูโรอยู่ที่ 1.0114 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันอังคาร โดยดิ่งลงจาก 1.0220 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันจันทร์ และการดิ่งลงของยูโรในวันอังคารถือเป็นการดิ่งลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. ทางด้านดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 107.14 ในช่วงท้ายวันอังคาร โดยปรับขึ้นจาก 106.43 ในช่วงท้ายวันจันทร์ และเทียบกับระดับ 109.29 ที่ทำไว้ในวันที่ 14 ก.ค. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2002 หรือจุดสูงสุดในรอบเกือบ 20 ปี ทั้งนี้ ยูโร/เยนร่วงลง 0.87% สู่ 138.45 เยนในวันอังคาร ส่วนยูโร/ฟรังก์สวิสดิ่งลง 1.1% สู่ 0.975 ฟรังก์สวิส ทางด้านปอนด์ขยับลง 0.15% สู่ 1.2024 ดอลลาร์สหรัฐในวันอังคาร

  • ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ในขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งลงในวันอังคาร หลังจากบริษัทวอลมาร์ทซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกรายใหญ่ออกประกาศเตือนเรื่องผลกำไร โดยวอลมาร์ทระบุว่าทางบริษัทจะปรับลดราคาสินค้าลงเพื่อจะได้ระบายสต็อกสินค้าออกจากคลัง ทั้งนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในวันพุธนี้ และนักลงทุนจะจับตาดูว่า เฟดจะส่งสัญญาณชี้นำทิศทางนโยบายการเงินอย่างไรบ้าง ในขณะที่เฟดรับมือกับอัตราเงินเฟ้อที่ระดับสูงและความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเวลาเดียวกัน ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในสัปดาห์ที่แล้ว

  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาในวันอังคารบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยสำนักงาน The Conference Board รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐดิ่งลง 2.7 จุด สู่ 95.7 ในเดือนก.ค. ซึ่งถือเป็นการปรับลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และระดับ 95.7 นี้ถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2021 หรือจุดต่ำสุดรอบ 1 ปีครึ่ง ส่วนกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ในสหรัฐดิ่งลง 8.1% สู่ 590,000 ยูนิตต่อปีในเดือนมิ.ย. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2020 หรือจุดต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี

  • นักลงทุนรอดูตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาสสองที่รัฐบาลสหรัฐจะรายงานออกมาในวันพฤหัสบดีนี้ โดยมีการคาดการณ์กันว่า จีดีพีสหรัฐอาจหดตัวในไตรมาสสองเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งเท่ากับว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้เข้าสู่ภาวะถดถอยในทางเทคนิค นอกจากนี้ นักลงทุนก็จะรอดูดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐที่จะได้รับการรายงานออกมาในวันศุกร์นี้ด้วย เพราะเฟดมักใช้ดัชนี PCE เป็นมาตรวัดภาวะเงินเฟ้อ--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้