ReutersReuters

ตลาดน้ำมันนิวยอร์ค:น้ำมันดิบปิดร่วง 0.5% หลังดิ่งลงแตะต่ำสุด 4 เดือน

นิวยอร์ค--15 ก.ค.--รอยเตอร์

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX ปิดร่วงลงในวันพฤหัสบดี แต่สามารถลดช่วงติดลบกลับขึ้นมาได้มากก่อนปิดตลาด ในขณะที่นักลงทุนมุ่งความสนใจไปยังการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค. เพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอาจจะส่งผลลบต่ออุปสงค์น้ำมันด้วย ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันพุธว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐแบบเทียบรายปีพุ่งขึ้น 9.1% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งถือเป็นการพุ่งขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 1981 หรือครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 40 ปี และรายงานตัวเลขดังกล่าวกระตุ้นให้เทรดเดอร์ปรับเพิ่มการคาดการณ์ที่ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค. หลังจากธนาคารกลางแคนาดาเพิ่งประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1% สู่ 2.5% ในวันพุธ ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1998 หรือครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 24 ปี

  • ราคาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนส.ค.ปรับลง 52 เซนต์ หรือ 0.5% มาปิดตลาดที่ 95.78 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากดิ่งลงแตะ 90.56 ดอลลาร์ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. หรือจุดต่ำสุดในรอบกว่า 4 เดือน ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ย.ที่ตลาดกรุงลอนดอนร่วงลง 47 เซนต์ หรือ 0.5% มาปิดตลาดที่ 99.10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยวันพฤหัสบดีถือเป็นวันที่ 3 ติดต่อกันที่เบรนท์ปิดตลาดในระดับต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ โดยเบรนท์ได้รูดลงแตะจุดต่ำสุดของวันที่ 94.50 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดีด้วย ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่สงครามยูเครนจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 24 ก.พ.

  • ราคาน้ำมันดิ่งลงในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้รับแรงกดดันจากความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย ถึงแม้ยอดส่งออกน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากรัสเซียดิ่งลง และเหตุการณ์ไม่สงบในลิเบียเป็นอุปสรรคขัดขวางการผลิตและส่งออกน้ำมัน ทั้งนี้ ราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ด้วย เพราะการแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้น้ำมันมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ โดยดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 108.57 ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี โดยแข็งค่าขึ้นจาก 108.27 ในช่วงท้ายวันพุธ หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 109.29 ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2002 หรือจุดสูงสุดในรอบเกือบ 20 ปี ในขณะที่นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินปลอดภัย

  • มีสัญญาณบ่งชี้ว่าอุปสงค์น้ำมันในยุโรปจะอยู่ในภาวะซบเซา หลังจากคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของยูโรโซนสำหรับปีนี้และปีหน้า และปรับขึ้นตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในวันพฤหัสบดี โดยเป็นผลจากสงครามยูเครน โดยอีซีคาดว่า จีดีพีของยูโรโซนจะเพิ่มขึ้น 2.6% ในปีนี้ โดยลดลงจาก 2.7% ที่เคยคาดไว้ในเดือนพ.ค. และคาดว่าจีดีพีจะเพิ่มขึ้น 1.4% ในปีหน้า โดยลดลงจาก 2.3% ที่เคยคาดไว้ในเดือนพ.ค. นอกจากนี้ อีซียังคาดการณ์อีกด้วยว่า อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนอาจพุ่งขึ้นแตะ 7.6% ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 6.1% ที่เคยคาดไว้ในเดือนพ.ค. และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 4% ในปีหน้า โดยเทียบกับ 2.7% ที่เคยคาดไว้ในเดือนพ.ค. ทั้งนี้ ราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ในจีนด้วยเช่นกัน ในขณะที่มีการใช้มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ในเมืองใหญ่หลายเมืองในจีน

  • ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐจะเดินทางไปซาอุดิอาระเบียในวันศุกร์เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดของประเทศพันธมิตรในอ่าวอาหรับ โดยเขาจะเรียกร้องให้ประเทศกลุ่มนี้ปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน อย่างไรก็ดี กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) มีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยในตอนนี้ และประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่มโอเปกใช้กำลังการผลิตเต็มที่แล้วในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสงสัยอีกด้วยว่า ซาอุดิอาระเบียจะสามารถปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันได้มากเพียงใดภายในเวลาอันรวดเร็ว--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้