EUROPE:ชี้ยูโรได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มศก.ที่สดใสแม้อีซีบีมีแนวโน้มลดดบ.
ลอนดอน/มิลาน--17 พ.ค.--รอยเตอร์
ยูโรยังไม่ได้ดิ่งลงสู่ 1.0000 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มสดใสขึ้น และปัจจัยนี้ก็สร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ทั้งนี้ ยูโรเพิ่งดิ่งลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 5 เดือนที่ 1.0599 ดอลลาร์สหรัฐในวันที่ 16 เม.ย. และเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้นักวิเคราะห์บางรายคาดการณ์ในช่วงนั้นว่า ยูโรมีโอกาสดิ่งลงสู่ 1.0000 ดอลลาร์สหรัฐได้ในอนาคต ในขณะที่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจสหรัฐช่วยหนุนดอลลาร์ในช่วงนั้น และนักลงทุนก็ปรับลดการคาดการณ์เรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วงนั้น
อัตราดอกเบี้ยของอีซีบีอยู่ที่ 4.00% ในปัจจุบัน ส่วนอัตราดอกเบี้ยของเฟดอยู่ที่ 5.25-5.50% ในปัจจุบัน และยูโรก็ยังคงได้รับแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยของอีซีบีที่อยู่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดี ยูโรได้รับแรงหนุนบางส่วนจากเศรษฐกิจมหภาคของยูโรโซนที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งรวมถึงจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมทางธุรกิจในยูโรโซนขยายตัวในเดือนเม.ย.ในอัตราที่รวดเร็วกว่าในสหรัฐ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปีที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ โดยปัจจัยเหล่านี้มีส่วนช่วยหนุนให้ยูโรพุ่งขึ้นมาแล้ว 2.30% จากจุดต่ำสุดของเดือนเม.ย. สู่ระดับราว 1.0843 ดอลลาร์ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ฟิโอนา ซินคอตตา นักยุทธศาสตร์การลงทุนของบริษัทซิตี้ อินเด็กซ์กล่าวว่า "ความแตกต่างทางเศรษฐกิจระหว่างยูโรโซนกับสหรัฐเริ่มหดแคบลง และปัจจัยนี้ส่งผลบวกต่อยูโร และปัจจัยนี้ก็ช่วยลดความกังวลของอีซีบีลงด้วย" ทางด้านดัชนีของซิตี้กรุ๊ปสำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าประหลาดใจในยูโรโซนอยู่ที่ 27 ในช่วงนี้ ซึ่งถือว่าอยู่ในแดนบวกอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากกิจกรรมทางธุรกิจและการเติบโตทางเศรษฐกิจในยูโรโซนปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ดัชนีตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าประหลาดใจในสหรัฐได้ดิ่งลงสู่ระดับติดลบเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจและการจ้างงานที่อ่อนแอเกินคาดในช่วงที่ผ่านมา
ดัชนียูโรตามการถ่วงน้ำหนักทางการค้าปรับขึ้นมาแล้ว 0.5% จากช่วงต้นปีนี้ และเคลื่อนตัวอยู่ใกล้กับสถิติสูงสุดที่เคยทำไว้ในปี 2023 โดยเป็นผลจากการอ่อนค่าของหยวนกับเยน อย่างไรก็ดี ยูโร/ดอลลาร์ดิ่งลงมาแล้ว 1.75% จากช่วงต้นปีนี้ และอีซีบีไม่สามารถมองข้ามความอ่อนแอของยูโรได้ถ้าหากยูโรรูดลงต่อไป เพราะว่าการดิ่งลงอย่างต่อเนื่องของยูโรจะส่งผลให้ราคานำเข้าพุ่งสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทะยานขึ้นตามไปด้วย และปัจจัยดังกล่าวจะเป็นการจำกัดโอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของอีซีบี ทั้งนี้ ยูโรอาจจะได้รับแรงกดดันจากปัจจัยอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งรวมถึงการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ เพราะปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ
เทรดเดอร์คาดการณ์ในตอนนี้ว่า อีซีบีจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยลดลงสู่ระดับราว 3.25% ก่อนสิ้นปีนี้ แต่เทรดเดอร์คาดว่า เฟอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียง 2 ครั้งในปีนี้ สู่ระดับราว 4.75-5.00% ก่อนสิ้นปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐกับยูโรโซนอยู่ที่ราว 1.75% ในช่วงสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางรายคาดว่า ถ้าหากอีซีบีปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 ครั้งในปีนี้ แต่เฟดไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเลยในปีนี้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐกับยูโรโซนก็จะอยู่ที่ราว 2.13% ในช่วงสิ้นปีนี้ และปัจจัยดังกล่าวอาจจะส่งผลให้ยูโรดิ่งลงสู่ 1.0000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอาจจะกระตุ้นภาวะเงินเฟ้อในยูโรโซน และจะสร้างความกังวลให้แก่อีซีบี ทั้งนี้ ยูโรเคยดิ่งลงแตะ 1.0000 ดอลลาร์ในเดือนส.ค. 2022 ซึ่งเป็นช่วงที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างเฟดกับอีซีบีอยู่ที่ 2.38%
นายอาธานาซิออส แวมวาคิดิส จากธนาคารแบงก์ ออฟ อเมริการะบุในช่วงต้นสัปดาห์นี้ว่า "ถ้าหากนักลงทุนคาดว่า เฟดจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ และคาดว่าอีซีบีจะยังคงปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหมือนอย่างที่คาดไว้ในปัจจุบัน ก็มีความเป็นไปได้ที่ยูโรจะดิ่งลงสู่ 1.0000 ดอลลาร์ และปัจจัยนี้จะส่งผลให้อีซีบีเลื่อนเวลาสำหรับวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไป" ทั้งนี้ นายนีล เมห์ทา ผู้จัดการพอร์ตลงทุนของบริษัทบลูเบย์ แอสเซท แมเนจเมนท์ระบุในช่วงต้นสัปดาห์นี้ว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อตลาดปริวรรตเงินตราได้อย่างชัดเจนในช่วงนี้ และเขากล่าวเสริมว่า "เรามองเห็นความเสี่ยงที่ยูโรจะดิ่งลงสู่ 1.0000 ดอลลาร์ ถึงแม้นั่นไม่ใช่สถานการณ์พื้นฐานที่เราคาดว่าจะเกิดขึ้น โดยเราคิดว่าขั้นตอนแรกที่จะเกิดขึ้นก็คือการร่วงลงสู่ 1.05 ดอลลาร์"--จบ--
Eikon source text
(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)
((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;