BangkokBizNewsBangkokBizNews

EP ผลงานปีนี้พลิกกำไร คาดปลายมี.ค. มีกำลังผลิตใหม่เพิ่ม

EP ผลงานปีนี้พลิกกำไร คาดปลายมี.ค. มีกำลังผลิตใหม่ 47.62 เมกะวัตต์ ขณะที่โรงไฟฟ้า “พลังงานลม” ประเทศเวียดนาม จ่อ “ซีโอดี” ช่วงกลางปีนี้

เมื่ออุตสาหกรรมพลังงานโรงไฟฟ้า ยังมีแนวโน้มอัตราการเติบโตระดับสูง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม “พลังงานสะอาด” ที่เป็นเทรนด์ของทั่วโลก ! เพื่อมุ่งหวังลดภาวะโลกร้อน รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย ส่งผลให้ความต้องการ (ดีมานด์) ใน พลังงานไฟฟ้าพุ่งขึ้นมาก และหนึ่งในบริษัทที่ประกอบธุรกิจพลังงานสะอาด อย่าง บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EP กำลังเร่งขยายพอร์ตธุรกิจพลังงานสะอาด เพื่อรองรับผลบวกดังกล่าว

“ยุทธ ชินสุภัคกุล” ประธานกรรมการ บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EP เปิดเผยว่า ปี 2566 บริษัทยังเร่งขยายพอร์ตลงทุนใน “ธุรกิจพลังงานทดแทน” โดยเป็นการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในประเทศ ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างยื่นประมูลใบอนุญาต (ไลเซนส์) โรงไฟฟ้า “พลังงานแสงอาทิตย์” ประเภท “โซลาร์ฟาร์ม” จำนวน 8 โครงการ กำลังการผลิตรวม 61.625 เมกะวัตต์ ที่คาดว่าจะประกาศผลในเดือน 25 มี.ค. 2566 คาดว่าบริษัทจะได้กำลังผลิตใหม่เพิ่มเข้ามาประมาณ 47.625 เมกะวัตต์

ขณะที่พอร์ตลงทุนใน “ธุรกิจติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา” (Solar Rooftop) , โรงผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar farm) และการขายไฟฟ้าให้เอกชนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากในปีนี้อัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทำให้ความต้องการติดตั้งเพิ่มขึ้นมาก ขณะเดียวกันบริษัทสามารถขายไฟฟ้าให้กับภาคเอกชนได้มากขึ้นด้วย ซึ่งบริษัทคาดว่าปีนี้พอร์ตธุรกิจติดตั้งแผงโซลาร์ให้ภาคเอกชนจะเติบโตราว 250% จากปีก่อนเติบโต 10%

ขณะที่ พอร์ตลงทุนโรงไฟฟ้าใน “ต่างประเทศ” ซึ่งปัจจุบันมีการลงทุน “พลังงานลม” ในประเทศเวียดนาม กำลังการผลิต 160 เมกะวัตต์ มูลค่า 8,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันดำเนินการเสร็จทั้งหมดแล้ว แต่ยังไม่สามารถเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ เนื่องจากติดปัญหาประเทศเวียดนามไม่มีประธานาธิบดีที่จะอนุมัติให้รับซื้อไฟฟ้า ดังนั้น โครงการจึงเกิดความล่าช้ามาปีกว่าแล้ว จากเดิมโรงไฟฟ้าพลังงานลมต้องสร้างรายได้เข้ามาตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่บริษัทที่โดนผลกระทบดังกล่าว เนื่องจากโครงการทั้งหมดจำนวน 77 โครงการ แต่เป็นของผู้ประกอบการเอกชนไทยที่เข้าไปลงทุนพลังงานทดแทนในเวียดนามทั้งหมดมี 13 โครงการ คิดเป็นกำลังผลิตรวม 657.80 เมกะวัตต์ โดยล่าสุด ในส่วนของผู้ประกอบการไฟฟ้าเอกชนไทย และ หอการค้าไทย อยู่ระหว่างการรวมกันเพื่อยื่นจดหมายถึง “นิกรเดช พลางกูร” เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เพื่อให้ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีเวียดนามแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.66 ประเทศเวียดนามเพิ่งได้ประธานาธิบดีคนใหม่ ดังนั้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าการเจรจากับทางรัฐบาลเวียดนามน่าจะมีความชัดเจนเร็วขึ้น ซึ่งคาดว่ากลางปีน่าจะมีความชัดเจนในเรื่องของการเจรจาเรื่องอัตราการรับซื้อไฟฟ้าใหม่ และ COD ได้ หลังมีการเสนอความเห็นต่อรัฐบาลเวียดนาม ให้เร่งรับซื้อไฟฟ้าโดยเร็ว 

อย่างไรก็ตาม เพราะตามตัวเลขทางเทคนิคที่ได้ศึกษาไว้ ชัดเจนว่า ทุกๆ 1 เมกะวัตต์ที่ติดตั้งของไฟฟ้าพลังงานลมจะสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ถึงปีละ 3 ล้านหน่วย เราจึงเร่งรัดที่จะได้ข้อสรุปกับทางเวียดนามให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ สังเกตได้ว่าข้อเสนอของหน่วยงานของการไฟฟ้าเวียดนาม มีความต้องการให้ COD ไปชั่วคราวทันที แต่จะมีการจ่ายค่าไฟฟ้าเพียงครึ่งเดียวจนกว่าจะได้ข้อสรุปของราคา FIT ถาวร ซึ่งบริษัทก็มีแนวความคิดเช่นนั้น ส่วนเรื่องราคา FIT ถาวรคาดว่าน่าจะอยู่ระหว่าง 0.0735-0.0775 ดอลลาร์ ลดลงจากเดิม 0.085 ดอลลาร์ หรือ 10-15% ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล

“เรามองว่าหลังประเทศเวียดนามมีประธานาธิบดีคนใหม่แล้ว ความชัดเจนน่าจะมีทิศทางดีขึ้น ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าจะมีการรับซื้อไฟฟ้าเร็วขึ้น เนื่องจากปัจจุบันไฟฟ้าเวียดนามไม่เพียงพอ และไฟฟ้าสำรองก็เหลือน้อย”

“ยุทธ” บอกต่อว่า ประเด็นความล่าช้าของการ COD ในประเทศเวียดนาม ส่งผลให้แผนธุรกิจผิดไปจากที่ตั้งเป้าไว้ สะท้อนจากผลประกอบการปี 2565 บริษัทมีขาดทุนสุทธิ 272.04 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากดอกเบี้ยจ่ายจำนวน 261.33 ล้านบาท โดยเป็นสำหรับใช้ในโครงการพลังงานลมในเวียดนามที่ยังไม่ได้ COD จำนวน 250 ล้านบาท และที่เหลือเป็นผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจำนวน 62.49 ล้านบาท

ดังนั้น หากบริษัทสามารถดำเนินการ COD โครงการพลังงานลม ณ ประเทศเวียดนาม ได้ช่วงกลางปีนี้ ผลประกอบการของบริษัทในปี 2566 จะพลิกกลับเป็น “กำไร”ได้ ส่วนกำลังการผลิตใหม่คาดยื่นขอไลเซนส์คาดว่าจะรับรู้รายได้ระหว่างปี 2567 เป็นต้นไป

สำหรับภาพรวมธุรกิจในปี 2566 บริษัทมีเป้าหมายรายได้เติบโตเพิ่มขึ้นในทุกธุรกิจ โดย “ธุรกิจสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์” คาดจะมียอดขายเติบโตประมาณ 20% จากปีก่อน หลังสามารถปรับราคาขายได้ตามราคาต้นทุนที่สูงขึ้น และอัตรากำไรขั้นต้นจะกลับสู่สภาวะปกติที่ประมาณ 15% และล่าสุด บริษัทเพิ่งได้ลูกค้ารายใหม่​โดยบริษัทได้ผลิตถุงกระดาษให้ แต่ยังเป็นคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ไม่มาก 

ขณะที่ ผลประกอบการปี 2565 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวม 877.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.42% จากปีก่อน โดยสิ่งพิมพ์ และบรรจุภัณฑ์มีรายได้ 681.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% แต่กำไรขั้นต้นลดลง 3% เนื่องจากผู้ผลิตกระดาษที่เป็น Suppliers ให้บริษัท ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 ที่ทำให้ค่าระวางเรือสูงขึ้นมากแล้ว Supplier ส่วนใหญ่นำเข้าเศษกระดาษจากต่างประเทศยังได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ต้นทุนพลังงานต่างๆ สูงขึ้น

ด้าน รายได้ทางตรงจากธุรกิจไฟฟ้า เพิ่มขึ้นกว่า 145% แต่เนื่องจากยังไม่มีรายได้จากโครงการไฟฟ้าพลังงานลมเข้ามา ทำให้บริษัทขาดทุนสุทธิ อนึ่งถึงแม้บริษัทจะขาดทุนในปี 2565 แต่หนี้สินต่อทุน (D:E) กลับลดลงเป็น 1.12 เท่า จาก 1.19 เท่า และมีมูลค่าหุ้นตามบัญชี (Book Value) อยู่ที่ 4.08 บาท

ท้ายสุด “ยุทธ” บอกไว้ว่า หากพอร์ตธุรกิจไฟฟ้ามีกำลังการผลิตเข้าทั้งไทย และเวียดนาม จะส่งผลให้สัดส่วนรายได้ธุรกิจไฟฟ้าขึ้นมาเป็นพอร์ตใหญ่ ส่วนปีนี้คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ “2 เท่า”

พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์