'ดร.พิรุณ' ย้ำ พรบ.ลดโลกร้อน ตัวช่วยภาคธุรกิจ ถ้าไม่มีจะแข่งขันระดับโลกยาก
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ทำหน้าที่เป็นกรอบกฎหมายที่ครอบคลุมและสมดุล ไม่เพียงปกป้องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังรับประกันการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เสริมสร้างสุขภาพของประชาชน
ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (DCCE) ขึ้นเวทีตลาดหลักทรัพย์ในงานเปิดตัว SET Carbon พูดถึงความท้าทาย-โอกาสของธุรกิจจาก พ.ร.บ. Climate Change ว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้น ถึงจะก้าวไปข้างหน้าได้ เพราะถ้าใช้กลไกที่อยู่ในกฎหมายเดิม โดยไม่มีเครื่องมือใหม่รองรับ เราจะไม่สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้
"ด้วยเหตุนี้ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือเรียกสั้นๆ ว่า กรมลดโลกร้อน กำลังทำร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ร.บ. Climate Change) ซึ่งผมเคยเน้นย้ำอยู่หลายเวทีว่าจำเป็นที่จะต้องขับเคลื่อนให้สำเร็จ"
ตอนนี้ พ.ร.บ.นี้ ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการแห่งชาติในหลักการเรียบร้อย ผมกำลังจะเสนอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และหวังว่า พ.ร.บ. นี้จะเข้าสู่ ครม.ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ก่อนที่จะส่งไปให้กฤษฎีกาตรวจร่างกฎหมายใหม่และเข้าสภาฯ เพื่อออกแบบและบังคับใช้ในปี 256
ร่างกฎหมายลดโลกร้อน 14 หมวด
1. บททั่วไป การรับรองสิทธิของประชาชน และกำหนดการมีส่วนร่วมของแต่ละภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสารทั้งในมิติของการลดก๊าซเรือนกระจกและความเสี่ยงต่อภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพ โดย Data Center ของกรมร่วมมือกับทาง Climate Center ทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน
2. เป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยแต่ละหน่วยงานกำหนดเป้าหมายและแผนให้สอดคล้องบูรณาการเป้าหมายกับภารกิจของตนเอง
3. คณะกรรมการนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) บูรณาการในการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกระดับ พ.ร.บ. นโยบาย มาตรการ และการดำเนินงาน
4. กองทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Fund)
5. แผนแม่บทรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครอบคลุมทั้งสถานการณ์เป้าหมายแนวทางการเนินงาน ตลอดจนการติดตามผล
6. ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเอกชน จัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศและส่งข้อมูลผ่านรายงานแห่งชาติไปยัง UNFCCC เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการลดก๊าซเรือนกระจก
7. แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก กำหนดแนวทางการดำเนินงาน ของหน่วยงานรัฐให้สอดคล้องกับเป้าหมายและแผนแม่บท
8. ระบบการซื้อขายสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนเครดิต เพื่อให้มีมาตรการภาคบังคับในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสูง
9. ระบบภาษีคาร์บอน เก็บภาษีและค่าธรรมเนียมคาร์บอนจากผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงฟอสซิลภาคคมนาคมขนส่ง ภาคการใช้ไฟฟ้า และจากผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ซึ่งดำเนินการโดยกรมสรรพสามิต เพื่อลดการปล่อยและปัญหาการรั่วไหลของก๊าซเรือนกระจก
10. คาร์บอนเครดิต กลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตการกำกับดูแลภายในและระหว่างประเทศ รวมถึงการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการธุรกิจคาร์บอนเครดิต
11. การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะในระดับจังหวัดและพื้นที่ชุมชน ทั้งการให้ข้อมูลและก่อให้เกิดองค์ความรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
12. มาตรการการส่งเสริมการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนแก่หน่วยงานของรัฐองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นและการศึกษา
13. มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
14. บทกำหนดโทษป้องกันยับยั้งไม่ให้เกิดการกระทำฝ่าฝืนมาตรการบังคับ อาทิเช่น การจงใจรายงานข้อมูลเท็จ ฝ่าฝืนระบบซื้อขายสิทธิ และบทบัญญัติเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต
ผลกระทบต่อนักลงทุน-ผู้ประกอบการ
ดร. พิรุณ กล่าวด้วยว่า มีหลายคนตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ของ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ว่าจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนและผู้ประกอบการในประเทศหรือไม่
“ผมบอกได้เลยว่า เราไม่มีทางที่จะออกกฎหมายมาเพื่อทำลายผลประโยชน์ของคนไทย ซึ่ง พ.ร.บ. นี้ถูกวางแผนให้มีมาตรการที่สมดุลทั้งในเรื่องของการส่งเสริมและภาคบังคับ ในส่วนของนโยบายและแผนจะมีการกำหนดเป้าหมาย Net Zero ความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายระยะ 5 ปีตามความตกลงปารีส (Paris Agreement)"
ดร. พิรุณ ยกตัวอย่างหมวดที่ 2 เป็นการลดก๊าซ เช่น การใช้กลไกราคาคาร์บอนและการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ในหมวดที่ 3 เป็นเรื่องของการเตรียมการรับมือภัยพิบัติ รวมถึงการศึกษาเมกะโปรเจคป้องกันกรุงเทพจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้นจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น รวมถึงการจัดการน้ำจืด การเงิน และการสนับสนุนจากกองทุนต่างๆ
“สิ่งที่เราอยากเห็นคือการมีภาคบังคับที่ไม่สร้างภาระที่ซ้ำซ้อนให้กับผู้ประกอบการ และมีการคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ ภายใต้การจัดการของกลไกการเงินที่เหมาะสม
โดยเราจะทำ Climate Fund และจะตั้งเป็นหน่วยงานแยกออกมา และมีฟันด์เมเนเจอร์ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแลโดยเฉพาะ ทั้งนี้กรมลดโลกร้อนจะไม่ดูแลกองทุนส่วนนี้โดยตรง แต่จะดูแลนโยบายภาพรวมในการจัดสรรงบประมาณและเงินทุนให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประกอบการในประเทศ ทั้งนี้เน้นที่การให้ความสำคัญกับ SMEs สำหรับการทำรีพอร์ต การลงทุนด้านเทคโนโลยีและการวิจัยและพัฒนาเพื่อความยั่งยืน”
ดร. พิรุณ กล่าวตอนท้ายว่า ประเทศไทยไม่ควรร้องขอผ่อนปรนจากต่างประเทศภายใต้กฎระเบียบต่างๆ แต่ควรเตรียมพร้อมรับแรงกดดันและสร้างความเข้มแข็งของตนเอง เพื่อแข่งขันในเวทีโลกและสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน กรมลดโลกร้อนจะช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยทุกขนาด ให้เปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว