BDMS ผุด เวลเนส ซิตี้ หลังสวน 2.5 หมื่นล้าน ดันไทย TOP 5 ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโลก
หากใครสัญจรผ่านที่ดินทำเลทองบริเวณหัวมุมถนนใกล้สวนลุมพินี จะเห็นการกั้นพื้นที่เพื่อรอการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ของกลุ่ม “บีดีเอ็มเอส” (BDMS)
ในงาน “THAILAND MARKETING DAY” เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และประธานผู้บริหารอาวุโส บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ได้เปิดเผยว่า ที่ดินดังกล่าวจะถูกนำไปพัฒนาโครงการเชิงสุขภาพ “มิกซ์ เวลเนส คอมเพล็กซ์” เพื่อผลักดันให้เป็นหมุดหมายปลายทางเพื่อสุขภาพ หรือ “เวลเนส เดสติเนชัน” (Wellness Destination) ของประเทศไทย
ทั้งนี้ ภายในมิกซ์เวลเนส คอมเพล็กซ์ จะประกอบด้วยการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ระบุว่า “บีดีเอ็มเอส” ไม่ได้มีความถนัดมากนัก แต่จะมาพร้อมกับ “คลินิก” รวมถึงห้างค้าปลีกหรือรีเทล และโรงแรม เพื่อทำให้โปรเจกต์นี้มีระบบนิเวศแบบครบวงจร!
“สำหรับโปรเจกต์ใหญ่ของเรา คนอาจสงสัยว่าบีดีเอ็มเอสมีพื้นที่ตรงหัวมุม จะทำอะไร เรามุ่งมั่นจะพัฒนาเป็นมิกซ์ เวลเนส คอมเพล็กซ์ เพื่อให้เป็นอีโคซิสเต็มครบวงจร เป็นตัวแทนด้านเวลเนสของประเทศไทย และเป็นเวลเนส เดสติเนชัน อีกด้วย”
บีดีเอ็มเอส มีธุรกิจหลักคือสร้างโรงพยาบาลเครือข่ายมากมาย ทั้งโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลเปาโล โรงพยาบาลบีเอ็นเอช และ Royal Phnom Penh Hospital ในประเทศกัมพูชา แต่ช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ได้ปั้นดาวดวงใหม่ “ธุรกิจเวลเนส” เพื่อสุขภาพ ภายใต้ชื่อ “บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก” เจาะกลุ่มเป้าหมายคนรักสุขภาพด้วย ซึ่งเริ่มให้บริการภายนอกโรงพยาบาลและขยายสู่ภายนอก
ปัจจุบันยังขยายตลาดไปยังต่างจังหวัด ทั้งร่วมมือกับพันธมิตร เปิด “บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก สาขาลากูน่าภูเก็ต” และร่วมกับรีสอร์ตหรู “ศรีพันวา” เปิดให้บริการเร็วๆ นี้ รวมถึงอีกสาขาที่เกาะสมุยด้วย
“คลินิก เวลเนส อยากให้มองเป็นเรื่องของชีวิตประจำวันมากกว่าใช้บริการเป็นครั้งคราว เพราะเป็นสิ่งที่ทำแล้วดีต่อสุขภาพ ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคบางคนมองว่าตนเองไม่ได้ป่วย แต่ต้องการไปใช้บริการหรือดูแลแค่สุขภาพ ทำไมต้องเดินเข้าโรงพยาบาลที่อาจเจอเชื้อโรค ดังนั้นคลินิก เวลเนส จึงเป็นหน่วยงานที่แยกออกมาเพื่อให้บริการกลุ่มเป้าหมาย”
แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเวลเนส โดยทั่วไปจะแทรกซึมอยู่กับธุรกิจโรงแรม เช่น การทำสปา การนั่งสมาธิ อนาคตอันใกล้คาดว่าเวลเนสจะมีความใกล้ชิดระหว่างโรงพยาบาล โรงแรม และธุรกิจอื่นๆ มากขึ้นด้วย
“เทรนด์บริการสุขภาพมีปัจจัยท้าทายในวันข้างหน้า ผู้คนต้องการดูแลสุขภาพแบบที่มีผู้เชี่ยวชาญดูแล หาหมอโรคนี้เมื่อไรก็ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เราจึงต้องสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ และปรับเปลี่ยนการดูแลสุขภาพให้ดีขึ้น แต่การดูแลสุขภาพ บีดีเอ็มเอส ไม่สามารถทำได้ลำพัง ต้องมีโรงแรม และพาร์ตอื่นๆ เพื่อให้การดูแลสุขภาพสมบูรณ์” แพทย์หญิงปรมาภรณ์ กล่าว
ด้าน นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และบีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS เปิดเผยวานนี้ (21 ม.ค.) ว่า กลุ่มบีดีเอ็มเอสอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสแห่งใหม่ขนาดใหญ่ มูลค่าโครงการ 25,000 ล้านบาท ในลักษณะของ “เวลเนส ซิตี้” (Wellness City) เป็นอสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพ (Wellness Real Estate) เต็มรูปแบบ ปัจจุบันกำลังขอ EIA
โครงการมิกซ์ยูสดังกล่าวตั้งอยู่บนที่ดิน 15 ไร่ตรงหลังสวน ใกล้สวนลุมพินี อยู่ข้างโครงการเวลา สินธร วิลเลจ โดยเป็นที่ดินเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ระยะยาว 30+30 ปี ขณะนี้ใช้ชื่อเล่นเรียกโครงการนี้เบื้องต้นว่า “เฮอร์คิวลิส” โดยยังต้องรอสรุปชื่ออย่างเป็นทางการ คาดว่าจะพัฒนาแล้วเสร็จในปี 2573
นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ
การพัฒนาโครงการนี้ยังสอดรับกับเทรนด์ “อุตสาหกรรมเวลเนส” ของโลก จากรายงานของ Global Wellness Institute (GWI) องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ศึกษาและวิจัยด้านสุขภาพเชิงป้องกันและอุตสาหกรรมเวลเนสทั่วโลก เผยข้อมูลด้านการเติบโตของอุตสาหกรรมเวลเนสล่าสุดว่า ในปี 2566 ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพมีมูลค่าสูงถึง 6.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในปี 2571 จะมีมูลค่าสูงขึ้นเป็น 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.3% สูงกว่าจีดีพีโลกซึ่งอยู่ที่ 4.8%
สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น จนทำให้ผู้ประกอบการตอบรับเทรนด์ด้านธุรกิจสุขภาพอย่างรวดเร็ว!
นอกจากนี้ แนวโน้มการเติบโตของแต่ละเซ็กเมนต์ของอุตสาหกรรมเวลเนส พบว่า “TOP 3” ที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด อันดับ 1 อสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพ (Wellness Real Estate) เติบโต 15% ต่อปี อันดับ 2 คือการดูแลสุขภาพจิต (Mental Health) เติบโต 12% ต่อปี และอันดับ 3 การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) เติบโต 10.2% ต่อปี
“ในปี 2566 ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจำนวน 13.5 ล้านคน มากเป็นอันดับ 15 ของโลก คาดว่าในปี 2568 จะแซงปี 2562 ก่อนโควิดระบาด ซึ่งมีจำนวน 15 ล้านคน มากเป็นอันดับ 7 ของโลก โดยกลุ่มบีดีเอ็มเอส ต้องการเป็นส่วนหนึ่งร่วมผลักดันให้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้เป็นอาวุธใหม่ของประเทศไทย ก้าวสู่ 5 อันดับแรกของโลก จากปัจจุบันมีสหรัฐ เยอรมนี จีน ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ติดโผ TOP 5 ดังกล่าวตามลำดับ”