ตลาดเงินนิวยอร์ค:ดัชนีดอลล์พุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุด 7 สัปดาห์
นิวยอร์ค--10 ต.ค.--รอยเตอร์
ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินแข็งค่าขึ้นในวันพุธ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมกำหนดนโยบายประจำวันที่ 17-18 ก.ย.ออกมาในวันพุธ และรายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้กำหนดนโยบายส่วนใหญ่ของเฟดสนับสนุนให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% สู่ 4.75-5.00% ในการเริ่มต้นวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนั้น แต่ผู้กำหนดนโยบายหลายคนมีความเห็นตรงกันว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนี้ไม่ได้เป็นการกำหนดภาระผูกพันให้กับเฟดสำหรับจังหวะความเร็วในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในอนาคต โดยกลุ่มเจ้าหน้าที่เฟดที่สนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% "มองว่าการปรับจุดยืนนโยบายการเงินแบบนี้จะส่งผลให้จุดยืนดังกล่าวเริ่มมีความสอดคล้องมากยิ่งขึ้นกับเครื่องบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อและตลาดแรงงานในระยะนี้" ในขณะที่ผู้กำหนดนโยบายคนอื่น ๆ ตั้งข้อสังเกตว่า มีเหตุผลสนับสนุนให้เฟดสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 30-31 ก.ค. และตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาหลังจากนั้นก็มีแต่ช่วยสนับสนุนให้เฟดผ่อนคลายนโยบายการเงินลง อย่างไรก็ดี ผู้เข้าร่วมการประชุม "บางราย" สนับสนุนให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียง 0.25% ในเดือนก.ย. และผู้เข้าร่วมการประชุมรายอื่น ๆ บางรายก็ส่งสัญญาณว่า พวกเขาสามารถสนับสนุนให้เฟดตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียง 0.25% ได้ด้วยเช่นกัน
ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 102.88 ในช่วงท้ายตลาดวันพุธ โดยแข็งค่าขึ้นจาก 102.49 ในช่วงท้ายตลาดวันอังคาร หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 102.93 ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.
ดอลลาร์/เยนอยู่ที่ 149.29 เยนในช่วงท้ายตลาดวันพุธ โดยพุ่งขึ้นจากระดับปิดตลาดวันอังคารที่ 148.19 เยน หลังจากทะยานขึ้นแตะ 149.36 เยนในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.
ยูโร/ดอลลาร์อยู่ที่ 1.0939 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันพุธ โดยร่วงลงจาก 1.0980 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันอังคาร หลังจากดิ่งลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 2 เดือนที่ 1.0936 ดอลลาร์ในระหว่างวัน
ลอรี โลแกน ประธานเฟดสาขาดัลลัสกล่าวในวันพุธว่า เธอสนับสนุนให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ในเดือนก.ย. แต่เธอต้องการให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในขนาดที่เล็กกว่านั้นในอนาคต เนื่องจากยังคงมีความเสี่ยงด้านสูงอย่างแท้จริงต่อภาวะเงินเฟ้อ และเนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจเผชิญกับความไม่แน่นอนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ นักลงทุนมั่นใจว่าเฟดจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างรุนแรงในอนาคต และนักลงทุนมองว่ารายงานการประชุมเฟดประจำวันที่ 17-18 ก.ย.เป็นสิ่งที่ไม่ทันต่อเหตุการณ์ในปัจจุบัน หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.ย.ที่แข็งแกร่งเกินคาดในวันศุกร์ที่ 4 ต.ค. และรายงานตัวเลขดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนปรับลดการคาดการณ์เรื่องแนวโน้มในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด
นักลงทุนคาดการณ์ในตอนนี้ว่า เฟดไม่มีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% สู่ 4.25-4.50% ในการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 6-7 พ.ย. โดยโอกาสที่ 0% ดังกล่าวปรับลดลงจากระดับ 31% ที่เคยคาดไว้ในช่วงเช้าวันศุกร์ที่แล้ว และนักลงทุนก็คาดการณ์ในตอนนี้ว่ามีโอกาส 82.8% ที่เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ 4.50-4.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 6-7 พ.ย. และมีโอกาส 17.2% ที่เฟดอาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 4.75-5.00% ตามเดิมในการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 6-7 พ.ย. โดยนักลงทุนยังคาดการณ์อีกด้วยว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงรวมกันราว 0.46% ในช่วงต่อไปในปีนี้ หลังจากที่เคยคาดการณ์เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงรวมกันมากกว่า 0.70% ในช่วงต่อไปในปีนี้
นักลงทุนกังวลกับอุปสงค์จากจีนในสัปดาห์นี้ และนักลงทุนก็ผิดหวังที่การจัดงานแถลงข่าวของคณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน (NDRC) ในวันอังคารไม่ได้ส่งผลให้มีการประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังจีนระบุในวันพุธว่า จะมีการจัดงานแถลงข่าวเรื่องนโยบายการคลังในวันเสาร์ที่ 12 ต.ค. และนักลงทุนก็คาดว่าอาจจะมีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในวันนั้น ทั้งนี้ ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจจีนส่งผลลบต่อดอลลาร์ออสเตรเลียและดอลลาร์นิวซีแลนด์ โดยดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลง 0.42% สู่ 0.6719 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงท้ายวันพุธ ส่วนดอลลาร์นิวซีแลนด์ดิ่งลง 1.19% สู่ 0.6063 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงท้ายวันพุธ หลังจากรูดลงแตะ 0.6053 ดอลลาร์สหรัฐในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค. ในขณะที่ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% สู่ 4.75% ในวันพุธ และ RBNZ เปิดโอกาสสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อไปในอนาคต--จบ--
Eikon source text
(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)
((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;