USA:ชี้ปัจจัยจากหลายปท.ส่งผลให้ดอลล์ไม่ร่วงลงแม้เฟดลดดบ. 0.5%
ลอนดอน--9 ต.ค.--รอยเตอร์
นายไมค์ โดแลน ผู้เขียนคอลัมน์ของรอยเตอร์ระบุว่า ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินเพิ่งปิดตลาดสัปดาห์ที่แล้วด้วยการทะยานขึ้น 2.06% จากสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ซึ่งถือเป็นการพุ่งขึ้นรายสัปดาห์ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2022 เป็นต้นมา หรือครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ปี และสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า การลงทุนตามการคาดการณ์ในทางลบต่อค่าดอลลาร์ถือเป็นการลงทุนที่อันตราย ถ้าหากประเทศอื่น ๆ ไม่ยอมปล่อยให้ดอลลาร์สหรัฐร่วงลง โดยการพุ่งขึ้นของค่าดอลลาร์ในช่วงนี้สร้างความเสียหายต่อนักเก็งกำไรจำนวนมากที่ถือครองสถานะขายในดอลลาร์ด้วย ทั้งนี้ นายโดแลนระบุว่า การพุ่งขึ้นของค่าดอลลาร์ในช่วงนี้ได้รับแรงหนุนบางส่วนมาจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.ย.ที่อยู่ในระดับแข็งแกร่งเกินคาดในสหรัฐ และได้รับแรงหนุนบางส่วนมาจากการที่นักลงทุนปรับลดการคาดการณ์เรื่องแนวโน้มในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แต่ดอลลาร์ก็ได้รับแรงหนุนจากปัจจัยอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะจากการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ส่งสัญญาณว่าจะไม่เร่งรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจากการที่ธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ ในยุโรปส่งสัญญาณว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% สู่ 4.75-5.00% ในการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 17-18 ก.ย. และส่งสัญญาณว่าจะดำเนินวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่มีขนาดรวมกัน 2.50% ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับลงสู่ 2.75-3.00% ในช่วงปลายปี 2026 ซึ่งจะถือเป็นจุดต่ำสุดของวัฏจักร แต่หลังจากที่เฟดประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี), ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) ต่างก็ส่งสัญญาณว่า ธนาคารกลางของตนเองมีโอกาสที่จะเร่งความเร็วในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงด้วยเช่นกัน ทางด้านบีโอเจส่งสัญญาณว่าจะไม่เร่งรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับปกติ และนายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะของญี่ปุ่นก็กล่าวในสัปดาห์ที่แล้วว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังไม่พร้อมสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ทั้งนี้ นายโดแลนระบุว่า มีอีกหลายปัจจัยที่สกัดกั้นการดิ่งลงของดอลลาร์ด้วย โดยปัจจัยเหล่านี้รวมถึงสัญญาณบ่งชี้ว่า SNB กำลังเข้ามาแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราเพื่อสกัดกั้นการพุ่งขึ้นของฟรังก์สวิส, การที่ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) เข้ามาแทรกแซงตลาดอย่างต่อเนื่อง และทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนที่ดีดสูงขึ้น โดยปริมาณทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของจีนเพิ่งเพิ่มขึ้น 2.82 หมื่นล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 3.316 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนก.ย.
ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากการที่นักลงทุนต่างชาติต้องการเข้าซื้อสินทรัพย์สหรัฐเป็นจำนวนมากด้วย โดยนายคิท จัคส์ นักยุทธศาสตร์การลงทุนสกุลเงินของธนาคารโซซิเอเต เจเนอราลตั้งคำถามในสัปดาห์นี้ว่า เพราะเหตุใดดอลลาร์สหรัฐจึงพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากเฟดเริ่มต้นวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยรอบนี้ ซึ่งสิ่งนี้แตกต่างจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เพราะว่าในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ดอลลาร์เคยพุ่งขึ้นนานหลายปี 2 รอบด้วยกัน แต่ช่วงขาขึ้นดังกล่าวเปลี่ยนเป็นช่วงขาลงเมื่อเฟดเริ่มต้นวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ นายจัคส์ตั้งข้อสังเกตว่า กองทุนทรัสต์ฟันด์ของญี่ปุ่นได้กลับเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอีกครั้ง และอุปสงค์ในคอลล์ออปชั่นดอลลาร์ในต่างประเทศก็เพิ่มสูงขึ้น และสิ่งนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนรีบกลับเข้ามาลงทุนอย่างรวดเร็วในตลาดสินทรัพย์สหรัฐที่มีการกระจุกตัวอย่างมากอยู่แล้ว
นายโดแลนระบุว่า สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าดอลลาร์ยังคงมีมูลค่าสูงเกินไปในปัจจุบัน ในขณะที่ดัชนีดอลลาร์ตามการถ่วงน้ำหนักทางการค้าที่แท้จริงยังคงพุ่งขึ้นมาแล้วราว 30% จากเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งทำให้เกิดคำถามตามมาว่า นักลงทุนทั่วโลกลงทุนในสินทรัพย์สหรัฐมากเกินไปหรือไม่ ทั้งนี้ นายจัคส์ตั้งข้อสังเกตว่า นักลงทุนต่างชาติได้ปรับเพิ่มปริมาณการถือครองสินทรัพย์สหรัฐขึ้นสุทธิ 40 ล้านล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา และความต้องการลงทุนดังกล่าวยังไม่ได้ชะลอตัวลง โดยเขากล่าวเสริมว่า "ผมมั่นใจว่า การอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐจะช่วยลดภาวะไม่สมดุลในเศรษฐกิจโลกลงได้บ้าง แต่ก็เป็นเรื่องยากที่ดอลลาร์จะอ่อนค่าลง ถ้าหากนักลงทุนแทบไม่มีความเชื่อมั่นในนโยบายของประเทศตนเอง และในตลาดสินทรัพย์ของประเทศตนเอง และความไม่เชื่อมั่นดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในสหรัฐ"
นักลงทุนชาวสหรัฐเองก็ไม่ได้มีความสนใจที่จะลงทุนในตลาดต่างประเทศด้วย โดยตัวเลขของกองทุนรวมในสหรัฐแสดงให้เห็นว่า มียอดเงินลงทุนไหลออกสุทธิจากตลาดหุ้นโลกในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ถึงแม้เฟดเริ่มต้นวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว ทั้งนี้ ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศก็มีส่วนกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัยในช่วงนี้ด้วยเช่นกัน และส่งผลให้นักลงทุนชาวสหรัฐลงทุนภายในประเทศตนเอง ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติมองว่าตลาดสหรัฐมีความน่าดึงดูดเพราะมีสภาพคล่องสูง--จบ--
Eikon source text
(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)
((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;