ReutersReuters

ตลาดน้ำมันนิวยอร์ค:น้ำมันดิบดิ่งลง 2% ขณะดอลล์แข็งค่า

นิวยอร์ค--1 มิ.ย.--รอยเตอร์

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX ดิ่งลงในวันพุธ โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ และได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอในจีน ในขณะที่ตัวเลขดังกล่าวทำให้นักลงทุนกังวลกับอุปสงค์น้ำมัน เนื่องจากจีนถือเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 104.15 ในช่วงท้ายวันพุธ โดยแข็งค่าขึ้นจาก 104.05 ในช่วงท้ายวันอังคาร หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 104.70 ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. หรือจุดสูงสุดในรอบกว่า 2 เดือน โดยการแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้น้ำมันมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ

  • ราคาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนก.ค.ดิ่งลง 1.37 ดอลลาร์ หรือ 2% มาปิดตลาดที่ 68.09 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากรูดลงแตะ 67.03 ดอลลาร์ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ค.ที่ตลาดกรุงลอนดอนดิ่งลง 88 เซนต์ หรือ 1.20% มาปิดตลาดที่ 72.66 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากรูดลงแตะ 71.39 ดอลลาร์ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. โดยสัญญาเบรนท์เดือนก.ค.ครบกำหนดส่งมอบในช่วงปิดตลาดวันพุธ ทางด้านราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนส.ค.รูดลง 1.11 ดอลลาร์ มาปิดตลาดที่ 72.60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในวันพุธ

  • ราคาน้ำมันดิ่งลงในวันพุธ หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) รายงานในวันพุธว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของทางการจีนดิ่งลงจาก 49.2 ในเดือนเม.ย. สู่ 48.8 ในเดือนพ.ค. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดรอบ 6 เดือน และอยู่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 49.4 โดยรายงานนี้แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมภาคการผลิตของจีนหดตัวลงอย่างรุนแรงเกินคาดในเดือนพ.ค. ทั้งนี้ ราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ด้วย ในขณะที่ดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงในฝรั่งเศสและในบางรัฐของเยอรมนี และดอลลาร์ได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากความคืบหน้าในการผลักดันร่างกฎหมายเพดานหนี้ของสหรัฐ ในขณะที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเตรียมที่จะโหวตร่างกฎหมายข้อตกลงในการระงับเพดานหนี้รัฐบาลสหรัฐในช่วงต่อไปในวันพุธ

  • เทรดเดอร์รอดูการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) ในวันอาทิตย์ที่ 4 มิ.ย. โดยธนาคาร HSBC, ธนาคารโกลด์แมน แซคส์ และนักวิเคราะห์บางรายคาดว่า กลุ่มโอเปกพลัสจะไม่ปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันลงไปอีกในการประชุมครั้งนี้ โดย HSBC ระบุอีกด้วยว่า อุปสงค์น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในจีนและในชาติตะวันตกตั้งแต่ฤดูร้อนเป็นต้นไป จะส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนอุปทานน้ำมันในช่วงครึ่งปีหลัง

  • สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) รายงานว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งน้ำมันในสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ 12.696 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนมี.ค. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2020 หรือจุดสูงสุดรอบ 3 ปี ทั้งนี้ หลังจากตลาด NYMEX ปิดทำการในวันพุธ การปิโตรเลียมสหรัฐ (API) ซึ่งเป็นหน่วยงานของเอกชน ได้เปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันในคลังสหรัฐประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 พ.ค. โดยระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐพุ่งขึ้นราว 5.2 ล้านบาร์เรล, สต็อกน้ำมันเบนซินทะยานขึ้นราว 1.9 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมัน distillate พุ่งขึ้นราว 1.8 ล้านบาร์เรล--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้