ReutersReuters

ตลาดโลหะมีค่านิวยอร์ค:ทองปรับขึ้นขณะดอลล์อ่อนค่า,บอนด์ยิลด์ดิ่งลง

นิวยอร์ค--31 พ.ค.--รอยเตอร์

  • ราคาทองสปอตที่ตลาดสหรัฐปรับขึ้น 16.30 ดอลลาร์ สู่ 1,959.14 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงท้ายตลาดวันอังคาร หลังจากดิ่งลงแตะ 1,931.76 ดอลลาร์ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. โดยราคาทองได้รับแรงหนุนในวันอังคารจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ และจากการดิ่งลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ในขณะที่นักลงทุนคาดการณ์ในทางบวกต่อข้อตกลงเรื่องเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 104.05 ในช่วงท้ายวันอังคาร โดยอ่อนค่าลงจาก 104.31 ในช่วงท้ายวันจันทร์ หลังจากปรับขึ้นแตะ 104.53 เยนในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดในรอบ 10 สัปดาห์ โดยการอ่อนค่าของดอลลาร์ส่งผลให้ทองมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ

  • ราคาสัญญาทองล่วงหน้าปิดตลาดปรับขึ้น 0.7% สู่ 1,958.00 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทางด้านราคาโลหะเงินในตลาดสปอตปิดปรับขึ้น 0.021 ดอลลาร์ สู่ 23.215 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนราคาพลาตินั่มในตลาดสปอตปิดดิ่งลง 10.56 ดอลลาร์ หรือ 1.03% สู่ 1,014.00 ดอลลาร์/ออนซ์ และราคาพัลลาเดียมในตลาดสปอตปิดรูดลง 14.79 ดอลลาร์ หรือ 1.04% สู่ 1,400.63 ดอลลาร์/ออนซ์

  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีดิ่งลงจาก 3.820% ในช่วงท้ายวันศุกร์ สู่ 3.696% ในช่วงท้ายวันอังคาร โดยการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ส่งผลบวกต่อราคาทอง เพราะทองเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ให้ดอกเบี้ย ทั้งนี้ นายจิม วิคคอฟ นักวิเคราะห์ของบริษัทคิทโค เมทัลส์กล่าวว่า ราคาทองได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากการที่ผู้จัดการกองทุนเข้าซื้อทองเพื่อชดเชยการทำชอร์ตเซลในช่วงสิ้นเดือน และเขากล่าวเสริมว่า "ราคาทองมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวไซด์เวย์หรือปรับลงในระยะใกล้ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่เข้ามากระทบตลาด"

  • เทรดเดอร์ปรับตัวรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่งที่ได้รับการรายงานออกมาในวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานในวันศุกร์ว่า ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคพุ่งขึ้น 0.8% ในเดือนเม.ย. หลังจากปรับขึ้น 0.1% ในเดือนมี.ค. ส่วนดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐ ซึ่งถือเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นิยมใช้ ปรับขึ้น 4.4% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับขึ้น 4.2% ในเดือนมี.ค. ทางด้านดัชนี PCE พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานปรับขึ้น 4.7% ในเดือนเม.ย. หลังจากปรับขึ้น 4.6% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบรายปี ทั้งนี้ รายงานตัวเลขดังกล่าวช่วยกระตุ้นการคาดการณ์เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยเทรดเดอร์คาดการณ์ในตอนนี้ว่า มีโอกาสเพียง 41.4% ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. และมีโอกาส 58.6% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย.

  • นายโอเล แฮนเสน หัวหน้าฝ่ายแผนยุทธศาสตร์การลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์ของธนาคารแซกโซกล่าวว่า ราคาทองได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยเฉพาะในช่วงหลังจากที่มีการบรรลุข้อตกลงเรื่องเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐและนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจากพรรครีพับลิกันยังคงคาดการณ์ในทางบวกว่า ข้อตกลงเพดานหนี้จะผ่านสภาคองเกรส โดยนายแมคคาร์ธีกล่าวในวันอังคารว่า สมาชิกพรรครีพับลิกันควรจะสนับสนุนข้อตกลงนี้ ทางด้านคณะกรรมาธิการกฎระเบียบประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้เริ่มพิจารณาร่างกฎหมายข้อตกลงนี้ ซึ่งมีความยาว 99 หน้า--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้