ReutersReuters

USA:ชี้นักลงทุนพยายามเลี่ยงฟองสบู่,เผชิญปัญหาใหม่ในกระแสลงทุนใน AI

ลอนดอน--26 พ.ค.--รอยเตอร์

  • นักวิเคราะห์ระบุว่า นักลงทุนกำลังมองหาวิธีการลงทุนที่ดีที่สุดท่ามกลางกระแสความนิยมในปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในช่วงนี้ โดยกระแสความนิยมดังกล่าวพุ่งขึ้นสูงมากในเดือนพ.ย. 2022 เมื่อบริษัท OpenAI ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทไมโครซอฟท์เปิดตัว ChatGPT ซึ่งเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบโต้ตอบข้อความ อย่างไรก็ดี มูลค่าหุ้นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ AI ได้พุ่งขึ้นสูงมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ดังนั้นนักลงทุนจึงพยายามหลีกเลี่ยงจากภาวะฟองสบู่ในหุ้นกลุ่มนี้ด้วย ทั้งนี้ หุ้นเอ็นวิเดียซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ชิปที่ใช้ในการฝึกระบบ AI มีราคาพุ่งขึ้นมาแล้วเกือบ 2 เท่านับตั้งแต่มีการเปิดตัว ChatGPT และปัจจัยนี้ก็ส่งผลให้เอ็นวิเดียมีมูลค่าในตลาดราว 9.40 แสนล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน และถือเป็นบริษัทผู้ผลิตชิปที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก โดยหุ้นเอ็นวิเดียเพิ่งทะยานขึ้น 24% ในวันพฤหัสบดีสู่สถิติระดับปิดสูงสุดด้วย หลังจากเอ็นวิเดีย คาดการณ์รายได้รายไตรมาสที่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในย่านวอลล์สตรีทราว 50% และระบุว่าเอ็นวิเดียกำลังปรับเพิ่มการผลิตชิป AI เพื่อตอบรับต่ออุปสงค์ที่พุ่งขึ้นสูงมาก

  • หุ้น C3.AI ซึ่งเป็นบริษัทซอฟท์แวร์ AI ที่มียอดขาดทุน พุ่งขึ้นมาแล้ว 149% จากช่วงต้นปีนี้ ในขณะที่หุ้นพาแลนเทียร์ เทคโนโลยีส์ ซึ่งเพิ่งเปิดตัวแพลตฟอร์ม AI ทะยานขึ้นมาแล้ว 91% จากช่วงต้นปีนี้ ทั้งนี้ มูลค่าหุ้นกลุ่ม AI พุ่งขึ้นสูงมากด้วยเช่นกัน โดยค่าพีอีเรโชของหุ้น Shopify อยู่ที่ 147.6 เท่าของคาดการณ์ผลกำไรล่วงหน้า, ค่าพีอีเรโชของหุ้น iFlytek อยู่ที่ 66.4 เท่าของคาดการณ์ผลกำไรล่วงหน้า, ของเอ็นวิเดียอยู่ที่ 59.7 เท่า, ของพาแลนเทียร์อยู่ที่ 54.8 เท่า, ของค็อกเน็กซ์อยู่ที่ 43.7 เท่า, ของ AMD อยู่ที่ 32.3 เท่า, ของไมโครซอฟท์อยู่ที่ 29.0 เท่า และค่าพีอีเรโชของหุ้นแอลฟาเบทอยู่ที่ 21.1 เท่าของคาดการณ์ผลกำไรล่วงหน้า

  • นักลงทุนกำลังปรับเพิ่มการลงทุนใน AI แบบรู้สร้าง (generative AI) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเรียนรู้จากการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก และนำสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้มาใช้ในการสร้างข้อความ, ภาพ หรือชุดคำสั่งสำหรับคอมพิวเตอร์ โดยธุรกิจหลายแห่งพยายามใช้ AI แบบรู้สร้างในการช่วยทำงานด้านการตัดต่อวิดีโอ, การรับสมัครงาน และงานทางกฎหมาย ทั้งนี้ บริษัท PwC คาดว่า AI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิตและการลงทุน ซึ่งจะก่อให้เกิดผลผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นมูลค่าราว 15.7 ล้านล้านดอลลาร์ก่อนสิ้นปี 2030 ซึ่งใกล้เคียงกับขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีน

  • คำถามสำคัญสำหรับนักลงทุนในตอนนี้คือประเด็นที่ว่า นักลงทุนควรจะรีบเข้ามาลงทุนตามกระแส AI หรือไม่ หรือว่าควรจะใช้ความระมัดระวังในการลงทุนท่ามกลางความกังวลว่าอาจจะเกิดปัญหาด้านกฎระเบียบ โดยนักลงทุนบางรายมองว่า นักลงทุนยังไม่ควรเข้าไปลงทุนในบริษัทใหม่ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง หรือธุรกิจ AI ที่มีมูลค่าสูง แต่ควรจะเข้าลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีที่มีสถานะมั่นคงแล้ว ซึ่งเป็นบริษัทที่อาจจะได้รับประโยชน์จากกระแสในระยะยาว ทั้งนี้ แอลิสัน พอร์เทอร์ ผู้จัดการกองทุนเทคโนโลยีในบริษัทเจนัส เฮนเดอร์สันกล่าวว่า "AI จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เหมือนกับอินเทอร์เน็ต, อินเทอร์เน็ตบนมือถือ และเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ แต่ขณะนี้การใช้ AI ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นเป็นอย่างมาก" โดยพอร์เทอร์ชื่นชอบบริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่มเทคโนโลยี อย่างเช่นไมโครซอฟท์และอัลฟาเบท เพราะว่าบริษัทเหล่านี้มี "งบดุลที่แข็งแกร่ง" และปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ "สามารถลงทุนในความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่แตกต่างกันไปได้" ซึ่งรวมถึงใน AI

  • นายมาร์ค ฮอว์ทิน จากบริษัทจีเอเอ็ม อินเวสท์เมนท์กล่าวว่า เขาพยายามมองหาบริษัทที่จัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับเทคโนโลยี AI ในช่วงนี้ โดยกองทุนของเขาถือครองหุ้นบริษัทซีเกต เทคโนโลยี ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตฮาร์ดไดรฟ์และผลิตภัณฑ์สำหรับการเก็บข้อมูล และถือครองหุ้นบริษัทมาร์เวลล์ เทคโนโลยี ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิป ในขณะที่ธนาคารแบงก์ ออฟ อเมริการะบุว่า ระบบ AI จำเป็นต้องใช้ข้อมูลปริมาณมากมายมหาศาลสำหรับการวิเคราะห์และเรียนรู้--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้