ReutersReuters

CHINA:ชี้หยวนไม่ได้เป็นสกุลเงินสำรองถ้าหากต่างชาติเลี่ยงซื้อบอนด์จีน

ออร์แลนโด,รัฐฟลอริดา--16 พ.ค.--รอยเตอร์

  • นายเจมี แมคกีเวอร์ ผู้เขียนคอลัมน์ของรอยเตอร์ระบุว่า สกุลเงินหยวนของจีนเผชิญกับอุปสรรคสำคัญในระยะยาวในการที่จะก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในสกุลเงินสำรองทั่วโลก และหยวนก็เผชิญกับอุปสรรคสำคัญในระยะใกล้ด้วย ซึ่งได้แก่การที่ต่างชาติไม่ต้องการซื้อตราสารหนี้จีนในปัจจุบัน ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติได้เทขายตราสารหนี้จีนอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดสงครามยูเครนในเดือนก.พ. 2023 เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติกังวลว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลจีนกับรัฐบาลรัสเซียอาจจะส่งผลให้ผู้ถือครองสินทรัพย์จีนในต่างประเทศเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรจากนานาประเทศ

  • ก่อนหน้านี้นักลงทุนต่างชาติเคยนำเงินจำนวนมากเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้จีนเกือบทุกเดือนมาเป็นเวลานานราว 10 ปี แต่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับพลันนับตั้งแต่เกิดสงครามยูเครน โดยข้อมูลจากบริษัทเอ็กแซนเต ดาต้าแสดงให้เห็นว่า นักลงทุนต่างชาติเทขายตราสารหนี้อย่างหนักหน่วงเกือบทุกเดือนนับตั้งแต่เกิดสงครามยูเครนเป็นต้นมา ทั้งนี้ ข้อมูลระบุว่า ต่างชาติเคยปรับเพิ่มปริมาณการถือครองตราสารหนี้จีนให้สูงขึ้น 8.13 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2018, เพิ่มขึ้น 5.32 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2019, เพิ่มขึ้น 1.467 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2020, เพิ่มขึ้น 1.238 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2021 ก่อนที่จะปรับลดปริมาณการถือครองลง 8.53 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2022 และปรับลดลงไปอีก 2.95 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงต้นปี 2023

  • นายเยนส์ นอร์ดวิก ซีอีโอของบริษัทเอ็กแซนเต ดาต้าระบุว่า "เป็นเรื่องที่ยากมากในการที่จะสร้างสกุลเงินสำรองโดยไม่มีหลักทรัพย์สำรองที่น่าดึงดูด และจีนก็กำลังประสบกับปัญหานี้ เพราะว่าจีนต้องการให้ชาวต่างชาติเข้าซื้อตราสารหนี้จีน แต่ชาวต่างชาติกลับเทขายตราสารหนี้จีนนับตั้งแต่ต้นปี 2022 เป็นต้นมา" และเขากล่าวเสริมว่า "ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาลต่างก็ปรับลดการลงทุนในตราสารหนี้สกุลเงินหยวนในพอร์ตลงทุนของตนเอง" ทั้งนี้ ข้อมูลจากเอ็กแซนเต ดาต้าแสดงให้เห็นว่า นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อสุทธิตราสารหนี้จีนเป็นมูลค่า 5.58 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2010-2021 แต่เทขายตราสารหนี้เป็นมูลค่า 1.15 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ. 2022 จนถึงเดือนมี.ค.ปีนี้

  • นักลงทุนกำลังจับตามองสถานะของดอลลาร์ที่อาจจะลดความสำคัญลงในตลาดโลกในช่วงนี้ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า ดอลลาร์สหรัฐครองสัดส่วนเพียง 58.35% ของทุนสำรองทั่วโลกในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการจัดตั้งสกุลเงินยูโรในปี 1999 เป็นต้นมา นอกจากนี้ หลายประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงบราซิล, บางประเทศในเอเชีย และบางประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ก็เรียกร้องให้มีการใช้สกุลเงินอื่น ๆ นอกเหนือจากดอลลาร์ในการซื้อขายน้ำมัน, สินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟระบุว่า หยวนครองสัดส่วน 2.69% ของสกุลเงินสำรองทั่วโลกในปัจจุบัน โดยสัดส่วนดังกล่าวพุ่งขึ้นมาแล้วกว่า 2 เท่าในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา แต่เป็นการพุ่งขึ้นจากฐานที่ต่ำมาก และอัตราการพุ่งขึ้นดังกล่าวก็ถือว่าเร็วกว่าเยน, ปอนด์, ดอลลาร์ออสเตรเลีย, ดอลลาร์แคนาดา และฟรังก์สวิส

  • ทุนสำรองทั่วโลกที่อยู่ในรูปหยวนอยู่ที่ 2.98 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงสิ้นปีที่แล้ว โดยดิ่งลงจาก 3.37 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงสิ้นปี 2021 และถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับปริมาณทุนสำรองทั่วโลกที่ 12 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ ดอลลาร์สหรัฐกับยูโรครองสัดส่วนรวมกันเกือบ 80% ของทุนสำรองทั่วโลกในปัจจุบัน ในขณะที่ปอนด์ครองสัดส่วน 4.95% และเยนครองสัดส่วน 5.50%--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้