ReutersReuters

ตลาดเงินนิวยอร์ค:ดัชนีดอลล์ปรับลงหลังแตะจุดสูงสุด 5 สัปดาห์

นิวยอร์ค--16 พ.ค.--รอยเตอร์

  • ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินปรับลงในวันจันทร์ หลังจากแตะจุดสูงสุดรอบ 5 สัปดาห์ในระหว่างวัน ในขณะที่นักลงทุนปรับสถานะการลงทุนหลังจากดัชนีดอลลาร์พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในสัปดาห์ที่แล้ว และนักลงทุนรอฟังข่าวเกี่ยวกับปัญหาเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐท่ามกลางความกังวลที่ว่า รัฐบาลสหรัฐอาจจะผิดนัดชำระหนี้ถ้าหากปัญหานี้ไม่ได้รับการคลี่คลาย ทั้งนี้ ดอลลาร์สหรัฐ/บาทร่วงลง 0.5% สู่ 33.76 บาทในวันจันทร์ หลังจากพรรคฝ่ายค้านของไทยชนะการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ส่วนดอลลาร์สหรัฐ/ลีราตุรกีปรับขึ้น 0.5% สู่ 19.67 ลีราในวันจันทร์ หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 19.70 ลีราในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. หรือจุดสูงสุดรอบ 2 เดือน และเทียบกับสถิติสูงสุดที่ 19.8 ลีราที่เคยทำไว้ในวันที่ 10 มี.ค. หลังจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในตุรกีในวันที่ 14 พ.ค.แสดงให้เห็นว่า ไม่มีผู้สมัครคนใดได้เสียงส่วนใหญ่เกิน 50% ซึ่งอาจจะส่งผลให้ตุรกีต้องจัดการเลือกตั้งรอบ 2 ในวันที่ 28 พ.ค.

  • ดอลลาร์อยู่ที่ 136.11 เยน ในช่วงท้ายตลาดวันจันทร์ โดยแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดวันศุกร์ที่ 135.71 เยน ส่วนยูโรอยู่ที่ 1.0872 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันจันทร์ โดยปรับขึ้นจาก 1.0848 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันศุกร์ หลังจากร่วงลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 5 สัปดาห์ที่ 1.0843 ดอลลาร์ในระหว่างวัน ทางด้านดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 102.43 ในช่วงท้ายวันจันทร์ โดยอ่อนค่าลงจาก 102.68 ในช่วงท้ายวันศุกร์ หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 102.75 ในระหว่างช่วงการซื้อขายวันจันทร์ ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. หรือจุดสูงสุดรอบ 5 สัปดาห์ โดยดัชนีดอลลาร์ทะยานขึ้นมาแล้ว 1.4% ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการพุ่งขึ้นรายสัปดาห์ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2022 ทั้งนี้ ปอนด์อยู่ที่ 1.2531 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันจันทร์ โดยแข็งค่าขึ้นจาก 1.2448 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันศุกร์ หลังจากดิ่งลง 1.5% ในสัปดาห์ที่แล้ว

  • ดอลลาร์ร่วงลง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ครายงานว่า ดัชนีเอ็มไพร์ สเตทสำหรับภาคการผลิตรัฐนิวยอร์คดิ่งลงจาก 10.8 ในเดือนเม.ย. สู่ -31.8 ในเดือนพ.ค. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. ซึ่งเป็นเดือนที่ดัชนีดิ่งลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 3 ปีที่ -32.9 และการดิ่งลงในเดือนพ.ค.ถือเป็นการดิ่งลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2020 ทั้งนี้ นายอาโม ซาโฮทา ผู้อำนวยการจากบริษัทแคลริที เอฟเอ็กซ์กล่าวว่า "นักลงทุนกำลังรอดูสัญญาณที่ชัดเจนจากสหรัฐเรื่องวิธีการแก้ไขปัญหาเพดานหนี้" และเขากล่าวเสริมว่า "ผมไม่คิดว่าสกุลเงินได้ปรับตัวผ่านระดับสำคัญใด ๆ ในช่วงนี้ เพราะว่ายูโร/ดอลลาร์ยังคงอยู่สูงกว่า 1.08 ดอลลาร์ ถึงแม้ว่าเกือบที่จะร่วงผ่านระดับดังกล่าวลงไปในวันศุกร์ ส่วนปอนด์ก็ยังคงอยู่ที่ระดับราว 1.25 ดอลลาร์"

  • ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐมีกำหนดที่จะประชุมกับผู้นำสภาคองเกรสในวันอังคาร ก่อนที่เขาจะออกเดินทางในวันพุธเพื่อไปเข้าร่วมการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 หรือจี-7 ที่ญี่ปุ่น โดยขณะนี้ทางฝ่ายทำเนียบขาวกับทางฝ่ายพรรครีพับลิกันยังไม่ได้แสดงท่าทีว่าใกล้ที่จะบรรลุข้อตกลงกัน แต่ทำเนียบขาวไม่ได้ตัดโอกาสที่จะกำหนดเพดานรายจ่ายประจำปี ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางฝ่ายพรรครีพับลิกันระบุว่าจำเป็นจะต้องมีควบคู่ไปกับการปรับขึ้นเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐจากระดับ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์

  • เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณในวันจันทร์ว่า อัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป หรือไม่ก็อาจจะปรับสูงขึ้นไปอีก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงลดลงได้ยาก ทางด้านเทรดเดอร์ในตลาดสัญญาล่วงหน้าคาดว่า มีโอกาส 79.9% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. และมีโอกาส 20.1% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. และเทรดเดอร์ยังคาดการณ์อีกด้วยว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงราว 0.50% ในช่วงต่อไปในปีนี้--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้