ReutersReuters

USA:ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐดิ่งลงแตะต่ำสุด 6 เดือนในพ.ค.

วอชิงตัน--15 พ.ค.--รอยเตอร์

  • มหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจในวันศุกร์ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐดิ่งลงจาก 63.5 ในเดือนเม.ย. สู่ 57.7 ในเดือนพ.ค. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2022 หรือจุดต่ำสุดรอบ 6 เดือน และอยู่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ 63.0 โดยดัชนีได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่ว่า ความขัดแย้งทางการเมืองเรื่องการปรับขึ้นเพดานหนี้สหรัฐอาจจะส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ รายงานยังระบุอีกด้วยว่า การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะ 5 ปีของผู้บริโภคสหรัฐปรับขึ้นจาก 3.0% ในเดือนเม.ย. สู่ 3.2% ในเดือนพ.ค. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2011 และปัจจัยนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่วนการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะ 1 ปีของสหรัฐอยู่ที่ 4.5% ในเดือนพ.ค. โดยปรับลงจาก 4.6% ในเดือนเม.ย. ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบันดิ่งลงจาก 68.2 ในเดือนเม.ย. สู่ 64.5 ในเดือนพ.ค. ส่วนดัชนีการคาดการณ์ของผู้บริโภครูดลงจาก 60.5 ในเดือนเม.ย. สู่ 53.4 ในเดือนพ.ค.

  • นายคอนราด เดควาดรอส ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของบริษัทเบรียน แคปิตัลกล่าวว่า "รายงานนี้บ่งชี้ถึงภาวะ stagflation หรือภาวะเศรษฐกิจเฉื่อยชาแต่อัตราเงินเฟ้อสูง" และเขากล่าวเสริมว่า "การปรับขึ้นตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในรายงานนี้จะกระตุ้นให้มีการหารือกันอย่างจริงจังว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยหรือว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย." ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์บางรายกล่าวเตือนว่า นักลงทุนไม่ควรให้ความสำคัญมากเกินไปต่อการดิ่งลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และการพุ่งขึ้นของตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาว เพราะว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไม่ได้ปรับตัวสอดคล้องมากนักกับปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค

  • นายโรเบิร์ต ฟริค นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทนาวี เฟเดอรัล เครดิต ยูเนียนกล่าวว่า "ดัชนีความเชื่อมั่นเคยดิ่งลงอย่างรุนแรงในช่วงที่เกิดวิกฤติโรคโควิด แต่ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคพุ่งขึ้นและสามารถรักษาระดับความแข็งแกร่งไว้ได้ในปัจจุบัน" และเขากล่าวเสริมว่า "ในส่วนของภาวะเงินเฟ้อนั้น ทุกคนต่างก็ไม่สามารถคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะยาวได้อย่างแม่นยำ ซึ่งรวมถึงผู้บริโภคด้วย และการคาดการณ์เงินเฟ้อก็แทบไม่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจใช้จ่ายเงินอยู่แล้ว"

  • กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันศุกร์ว่า ราคานำเข้าปรับขึ้น 0.4% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2022 หลังจากดิ่งลง 0.8% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบรายเดือน โดยราคานำเข้าได้รับแรงหนุนในเดือนเม.ย.จากการดีดขึ้นของราคาเชื้อเพลิง อย่างไรก็ดี ราคานำเข้าแบบเทียบรายปีดิ่งลง 4.8% ในเดือนเม.ย. หลังจากรูดลง 4.8% ในเดือนมี.ค. และถือเป็นการปรับลดลงแบบเทียบรายปีเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ทั้งนี้ ราคานำเข้าเชื้อเพลิงพุ่งขึ้น 4.5% ในเดือนเม.ย. โดยได้รับแรงหนุนจากราคาปิโตรเลียมที่ทะยานขึ้น 5.7% และปัจจัยนี้สามารถบดบังราคาก๊าซธรรมชาติที่ดิ่งลง 17.4% ในเดือนเม.ย. ทางด้านราคานำเข้าอาหารปรับขึ้น 0.2% ในเดือนเม.ย.

  • ราคานำเข้าพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาเชื้อเพลิงและอาหารทรงตัวในเดือนเม.ย. หลังจากร่วงลง 0.5% ในเดือนมี.ค. ส่วนราคานำเข้าจากจีนปรับลดลง 0.3% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายเดือน และดิ่งลง 1.9% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายปี อย่างไรก็ดี ราคานำเข้าจากญี่ปุ่น, แคนาดา, เม็กซิโก และสหภาพยุโรป (อียู) ปรับสูงขึ้นในเดือนเม.ย.--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้