ReutersReuters

ตลาดน้ำมันนิวยอร์ค:น้ำมันดิบดิ่งลง 1.6% หลังสหรัฐเผยตัวเลขเงินเฟ้อ

เบงกาลูรู--11 พ.ค.--รอยเตอร์

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX ดิ่งลงในวันพุธ หลังจากเพิ่งปิดตลาดในแดนบวกมานาน 3 วันติดต่อกัน ในขณะที่นักลงทุนมองว่าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาในช่วงนี้อาจจะสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันพุธว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไปของสหรัฐปรับขึ้น 0.4% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากขยับขึ้น 0.1% ในเดือนมี.ค. โดยอัตราเงินเฟ้อได้รับแรงหนุนจากค่าเช่าที่ยังคงอยู่ในระดับสูงในเดือนเม.ย. ส่วนดัชนี CPI ทั่วไปแบบเทียบรายปีปรับขึ้น 4.9% ในเดือนเม.ย. ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2021 หรือต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี หลังจากปรับขึ้น 5.0% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบรายปี ทางด้านดัชนี CPI พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานปรับขึ้น 0.4% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากปรับขึ้น 0.4% ในเดือนมี.ค. ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานแบบเทียบรายปีปรับขึ้น 5.5% ในเดือนเม.ย. หลังจากปรับขึ้น 5.6% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบรายปี

  • ราคาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนมิ.ย.รูดลง 1.15 ดอลลาร์ หรือ 1.6% มาปิดตลาดที่ 72.56 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ค.ที่ตลาดกรุงลอนดอนดิ่งลง 1.03 ดอลลาร์ หรือ 1.3% มาปิดตลาดที่ 76.41 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ ราคาสัญญาล่วงหน้าน้ำมันเบนซินในสหรัฐปรับขึ้น 0.7% สู่ 2.50 ดอลลาร์ต่อแกลลอน ในขณะที่ราคาสัญญาล่วงหน้าน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำมาก (ULSD) ทรงตัว

  • นายเจย์ แฮทฟิลด์ ซีอีโอของบริษัทอินฟราสตรัคเจอร์ แคปิตัล แมเนจเมนท์กล่าวว่า "ราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันในช่วงที่ผ่านมาจากความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจ หลังจากเกิดวิกฤติภาคธนาคาร และราคาน้ำมันก็ได้รับแรงกดดันจากปัจจัยด้านฤดูกาลตามปกติด้วย เพราะว่าอุปสงค์พลังงานมักจะชะลอตัวลงในฤดูใบไม้ผลิ" และเขากล่าวเสริมว่า "เราคาดว่าราคาน้ำมันจะเคลื่อนตัวในกรอบ 75-95 ดอลลาร์ในปี 2023 เมื่อพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานด้านอุปสงค์และอุปทาน และเราคาดว่าราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นเมื่อใกล้เข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่มีการใช้ยวดยานพาหนะสูง"

  • สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) รายงานในวันพุธว่า สต็อกน้ำมันดิบในคลังสหรัฐพุ่งขึ้น 3 ล้านบาร์เรล สู่ 462.6 ล้านบาร์เรลในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 พ.ค. ถึงแม้โพลล์รอยเตอร์คาดว่า สต็อกน้ำมันดิบอาจร่วงลง 900,000 บาร์เรล โดยสต็อกน้ำมันดิบในคลังสหรัฐได้รับแรงหนุนจากการที่คลังสำรองปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐ (SPR) ระบายน้ำมันออกมาอีก โดยปริมาณน้ำมันใน SPR ปรับลดลง 2.9 ล้านบาร์เรล สู่ 362 ล้านบาร์เรล ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 1983 และถือเป็นการปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำตามคำสั่งจากสภาคองเกรสที่ให้ SPR ระบายน้ำมันดิบ 26 ล้านบาร์เรลออกมา นอกจากนี้ ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐก็ดิ่งลง 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ 2.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปัจจัยนี้มีส่วนช่วยหนุนปริมาณสต็อกน้ำมันดิบในคลังสหรัฐให้เพิ่มสูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ EIA รายงานอีกด้วยว่า สต็อกน้ำมันเบนซินในคลังสหรัฐดิ่งลง 3.2 ล้านบาร์เรล สู่ 219.7 ล้านบาร์เรล ในขณะที่อุปสงค์ในน้ำมันเบนซินสหรัฐพุ่งสูงขึ้นก่อนถึงฤดูร้อน ส่วนสต็อกน้ำมัน distillate ในคลังสหรัฐ ซึ่งครอบคลุมน้ำมันดีเซลและน้ำมัน heating oil ดิ่งลง 4.2 ล้านบาร์เรล สู่ 106.2 ล้านบาร์เรล

  • นักลงทุนกังวลกับอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลก ในขณะที่สต็อกน้ำมันดิบในคลังสหรัฐพุ่งสูงเกินคาด, ยอดส่งออกของจีนชะลอการเติบโตลงในเดือนเม.ย. และจีนลดการนำเข้าน้ำมันดิบ โดยศุลกากรจีนรายงานในวันอังคารว่า ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบในจีนอยู่ที่ 42.41 ล้านตัน หรือ 10.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนเม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้