ReutersReuters

USA:วิเคราะห์ 5 แนวทางการลงทุนขณะตลาดจับตาปัญหาเพดานหนี้สหรัฐ

ลอนดอน--9 พ.ค.--รอยเตอร์

  • มีความเสี่ยงที่รัฐบาลสหรัฐอาจจะผิดนัดชำระหนี้ในเดือนมิ.ย.ปีนี้ ในขณะที่สมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐยังไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องการปรับขึ้นเพดานหนี้ โดยนายจิม ซีลินสกี หัวหน้าฝ่ายตราสารหนี้โลกของบริษัทเจนัส เฮนเดอร์สันกล่าวว่า ตลาดการเงินทั่วโลกจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ถ้าหากมีโอกาสมากยิ่งขึ้นที่รัฐบาลสหรัฐจะผิดนัดชำระหนี้ ถึงแม้นักวิเคราะห์คาดว่า สหรัฐจะสามารถหลีกเลี่ยงจากวิกฤตินี้ได้ในอนาคตก็ตาม ทั้งนี้ นักลงทุนได้ปรับตัวรับสถานการณ์ในช่วงนี้ด้วยการลงทุนตามแนวทางต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • วิธีการแรกคือการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยอัตราผลตอบแทนตั๋วเงินคลังระยะสั้นของสหรัฐได้พุ่งสูงขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งรวมถึงตั๋วเงินคลังอายุ 2 เดือนที่พุ่งขึ้นมานาน 6 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยตั๋วเงินคลังดังกล่าวมีอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 5.263% ในวันนี้ หลังจากเพิ่งพุ่งขึ้นแตะ 5.547% ในวันที่ 4 พ.ค. และเทียบกับระดับ 4.237% ในวันที่ 28 มี.ค. ทางด้านบริษัทแบล็คร็อคระบุว่า ทางบริษัทได้เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากแบล็คร็อคคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลง และความขัดแย้งเรื่องเพดานหนี้จะดำเนินต่อไปเป็นเวลานาน ทั้งนี้ นายโอลิวิเยร์ มาร์ซิออท หัวหน้าฝ่ายการลงทุนของบริษัทยูนิเจสชันกล่าวว่า เขาได้เข้าลงทุนเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนของตั๋วเงินคลังที่มีอายุแตกต่างกัน โดยเฉพาะตั๋วเงินคลังที่จะครบกำหนดอายุก่อนและหลังวัน X-date หรือวันที่รัฐบาลสหรัฐอาจจะเริ่มไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยในเดือนเม.ย.นั้น อัตราผลตอบแทนของตั๋วเงินคลังอายุ 1 เดือนอยู่ที่ 3.34% แต่อัตราผลตอบแทนของตั๋วเงินคลังอายุ 6 เดือนอยู่ที่ 5.1%

  • วิธีที่ 2 คือการลงทุนในตราสาร CDS หรืออนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ โดย CDS กำลังได้รับความนิยมสูงมากในช่วงนี้ และอัตราดอกเบี้ยของ CDS อายุ 6 เดือนก็อยู่ที่ระดับราว 2.41% ในวันที่ 4 พ.ค. ซึ่งสูงเป็น 2 เท่าของระดับเมื่อ 14 วันก่อนหน้านั้น ทั้งนี้ นายวูน เคียท ไล ผู้จัดการพอร์ตลงทุนของบริษัทเรดเฮดจ์ แอสเซท แมเนจเมนท์กล่าวว่า "ถึงแม้ว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่รัฐบาลสหรัฐจะผิดนัดชำระหนี้ การผิดนัดชำระหนี้ในทางเทคนิคก็จะส่งผลให้มีการจ่ายเงินชดเชยจำนวนมาก และปัจจัยนี้ก็ยังคงดึงดูดให้มีคนเข้าซื้อ CDS ของสหรัฐ"

  • วิธีที่ 3 คือการเข้าซื้อเยนซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย โดยนายยุสุเกะ มิยาอิริ นักยุทธศาสตร์การลงทุนสกุลเงินของบริษัทโนมูระกล่าวว่า ถ้าหากความขัดแย้งเรื่องเพดานหนี้สหรัฐทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น นักลงทุนก็จะปรับตัวรับการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในอนาคต และปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 5 ปีร่วงลง และปัจจัยนี้จะส่งผลให้ดอลลาร์/เยนร่วงลงตามไปด้วย เพราะดอลลาร์/เยนมักจะปรับตัวสอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 5 ปี

  • วิธีที่ 4 คือการปรับสถานะการลงทุนในหุ้นสหรัฐ โดยนายมิคาอิล ซเวเรฟ ผู้จัดการกองทุนนวัตกรรมยุทธศาสตร์ของบริษัทอมาติ โกลบัล อินเวสเตอร์สกล่าวว่า ราว 15% ของสินทรัพย์ที่กองทุนของเขาถือครองไว้คือหุ้นบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายการปรับลดเงินเฟ้อของประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ ในขณะที่ความขัดแย้งเรื่องเพดานหนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อกฎหมายดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ กองทุนของเขาถือครองหุ้นบริษัทหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงบริษัทฮับเบล อินคอร์ปอเรเท็ดที่ทำธุรกิจไฟฟ้า และบริษัทลีโอนาร์โด ดีอาร์เอสที่เป็นผู้รับเหมาเทคโนโลยีด้านอาวุธ อย่างไรก็ดี ข้อเสนอของสมาชิกพรรครีพับลิกันอาจจะส่งผลกระทบต่อแผนริเริ่มทางการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม

  • วิธีที่ 5 คือการลงทุนในทอง โดยนายโรบิน วิงค์เลอร์ นักยุทธศาสตร์การลงทุนของธนาคารดอยช์ แบงก์กล่าวว่า การทำประกันความเสี่ยงที่ดีอาจจะเป็นการขายดอลลาร์เพื่อเข้าซื้อทอง โดยราคาทองอยู่ที่ 2,025 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในวันนี้ หลังจากราคาทองเพิ่งพุ่งขึ้นแตะ 2,072.19 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดีที่ 4 พ.ค. ซึ่งใกล้เคียงกับสถิติสูงสุดที่ 2,072.49 ดอลลาร์ที่เคยทำไว้ในเดือนส.ค. 2020 ทั้งนี้ สหรัฐเคยเผชิญกับวิกฤติเพดานหนี้มาแล้วในเดือนส.ค. 2011 และราคาทองก็เคยพุ่งขึ้น 11% ในเดือนนั้น--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้