ReutersReuters

ตลาดน้ำมันนิวยอร์ค:น้ำมันดิบดีดขึ้น 4.1%

ฮุสตัน--8 พ.ค.--รอยเตอร์

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX พุ่งขึ้นในวันศุกร์ แต่ปิดตลาดรายสัปดาห์ในแดนลบเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน หลังจากราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันในช่วงต้นสัปดาห์จากความกังวลที่ว่า วิกฤติภาคธนาคารอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลลบต่ออุปสงค์เชื้อเพลิง ทั้งนี้ นักวิเคราะห์บางรายมองว่า ปัจจัยพื้นฐานในตลาดน้ำมันจริงอยู่ในภาวะที่แข็งแกร่งกว่าในตลาดสัญญาล่วงหน้า โดยนายสตีเฟน เบรนน็อค นักวิเคราะห์ของบริษัท PVM กล่าวว่า "แรงเทขายในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับแรงกระตุ้นมาจากความกังวลเรื่องอุปสงค์น้ำมัน ซึ่งเป็นผลจากความเสี่ยงเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย และภาวะตึงเครียดในภาคธนาคารสหรัฐ แต่แรงเทขายดังกล่าวไม่ได้มาจากปัจจัยพื้นฐาน" และเขากล่าวเสริมว่า มีความไม่สอดคล้องกันเป็นอย่างมากระหว่างราคาน้ำมันกับระดับความสมดุลในตลาดน้ำมัน และสิ่งนี้อาจจะส่งผลบวกต่อราคาน้ำมัน

  • ราคาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนมิ.ย.ทะยานขึ้น 2.78 ดอลลาร์ หรือ 4.1% มาปิดตลาดที่ 71.34 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากราคาน้ำมันร่วงลง 4 วันติดต่อกัน และเพิ่งดิ่งลงแตะ 63.64 ดอลลาร์ในวันที่ 4 พ.ค. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ปลายปี 2021 ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ค.ที่ตลาดกรุงลอนดอนพุ่งขึ้น 2.80 ดอลลาร์ หรือ 3.9% มาปิดตลาดที่ 75.30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบสหรัฐปิดตลาดสัปดาห์นี้ด้วยการดิ่งลง 7.1% จากสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนเบรนท์ปิดตลาดสัปดาห์นี้ด้วยการรูดลงราว 5.3% จากสัปดาห์ที่แล้ว โดยทั้งราคาน้ำมันดิบสหรัฐและเบรนท์ต่างก็ปิดตลาดรายสัปดาห์ในแดนลบติดต่อกัน 3 สัปดาห์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2022

  • นักวิเคราะห์ของธนาคารคอมเมอร์ซแบงก์ตั้งข้อสังเกตว่า นักลงทุนกังวลมากเกินไปในเรื่องอุปสงค์น้ำมันในช่วงที่ผ่านมา และนักวิเคราะห์คาดว่าราคาน้ำมันจะปรับฐานสูงขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ทั้งนี้ นักลงทุนลดความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันศุกร์ว่า การจ้างงานนอกภาคเกษตรในสหรัฐเพิ่มขึ้น 253,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ 180,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ ทางกระทรวงยังรายงานอีกด้วยว่า ค่าแรงเฉลี่ยต่อชั่วโมงปรับขึ้น 4.4% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายปี ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ +4.2%

  • นักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. ทั้งนี้ นายเคลวิน หว่อง นักวิเคราะห์ตลาดของบริษัท OANDA กล่าวว่า ราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากการคาดการณ์ที่ว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) อาจจะปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันลงไปอีกในการประชุมเดือนมิ.ย.

  • บริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์สรายงานในวันศุกร์ว่า จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ใช้งานในสหรัฐลดลง 3 แท่น สู่ 588 แท่นในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 พ.ค. ทั้งนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) รายงานในวันพุธที่ 3 พ.ค.ว่า สต็อกน้ำมันดิบในคลังสหรัฐดิ่งลง 1.3 ล้านบาร์เรล สู่ 459.6 ล้านบาร์เรลในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 เม.ย., สต็อกน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรล สู่ 222.9 ล้านบาร์เรล, สต็อกน้ำมัน distillate ซึ่งครอบคลุมน้ำมันดีเซลและน้ำมัน heating oil รูดลง 1.2 ล้านบาร์เรล สู่ 110.3 ล้านบาร์เรล และอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันปรับลง 0.6% สู่ 90.7%--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้