ReutersReuters

UK:คาดปอนด์อาจแข็งค่าเทียบดอลล์แต่อ่อนลงเทียบยูโร

ลอนดอน--25 ม.ค.--รอยเตอร์

  • นายไมค์ โดแลน ผู้เขียนคอลัมน์ของรอยเตอร์ระบุว่า ถึงแม้เศรษฐกิจยูโรโซนได้รับแรงหนุนเป็นอย่างมากจากการดิ่งลงของราคาก๊าซธรรมชาติในช่วงนี้ เศรษฐกิจอังกฤษก็ดูเหมือนจะไม่ได้รับแรงหนุนจากปัจจัยนี้มากนัก ซึ่งจะถือเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ในขณะที่บีโออีกำลังจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 2 ก.พ. ทั้งนี้ ผลสำรวจภาคธุรกิจที่ออกมาในวันอังคารแสดงให้เห็นว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในยูโรโซนขยายตัวในเดือนม.ค.เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2022 โดยได้รับแรงหนุนจากภาวะอากาศที่อบอุ่นผิดปกติในฤดูหนาว ซึ่งส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติดิ่งลงครึ่งหนึ่งในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่กิจกรรมภาคธุรกิจในอังกฤษหดตัวลงในเดือนม.ค.ในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 2 ปี โดยได้รับแรงกดดันจากปัจจัยหลายประการ ซึ่งรวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ระดับสูงในอังกฤษ, การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย, ปัญหาการขาดแคลนคนงาน, การผละงานประท้วง และการที่อังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือ Brexit โดยปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ยูโร/ปอนด์พุ่งขึ้นในวันอังคารที่อัตราที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบกว่า 1 เดือน โดยยูโรพุ่งขึ้นจาก 0.8780 ปอนด์ในช่วงท้ายวันจันทร์ สู่ 0.8828 ปอนด์ในช่วงท้ายวันอังคาร และอยู่ที่ 0.8841 ปอนด์ในวันนี้

  • นายไมค์ โดแลนระบุว่า ขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่า ปอนด์จะปรับตัวตามแนวโน้มการแข็งค่าของยูโร หรือแนวโน้มการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ยูโรได้รับแรงหนุนในช่วงนี้จากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจยูโรโซน และจากการที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ส่งสัญญาณแบบสายเหยี่ยว ส่วนดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันในช่วงนี้จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่อ่อนแอเกินคาด และจากแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอความเร็วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% สู่ สู่ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. ทั้งนี้ นายโดแลนระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่ปอนด์อาจจะปรับตัวอ่อนแอกว่ายูโร แต่ปรับตัวแข็งแกร่งกว่าดอลลาร์ ในขณะที่นายสตีเฟน เจน ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ "ยูริซอน เอสแอลเจ" ระบุว่า อังกฤษอาจจะเผชิญกับสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกับในสหรัฐ ซึ่งได้แก่การมียอดขาดดุลการค้าและการเผชิญกับปัญหากำลังแรงงานหดตัวลง แต่ปอนด์มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการที่ดอลลาร์สหรัฐอาจจะดิ่งลงอีก 10% เมื่อเทียบกับเงินหลายสกุลในปีนี้ โดยนายเจนกล่าวเสริมว่า "ผมคาดว่าถ้าหากดอลลาร์ยังคงดิ่งลงต่อไป ปอนด์ก็อาจจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่อาจจะแข็งค่าขึ้นในระดับที่น้อยกว่ายูโร/ดอลลาร์"

  • นายโดแลนชี้ให้เห็นว่ามีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอในอังกฤษหลายตัวในช่วงนี้ โดยสมาพันธ์อุตสาหกรรมอังกฤษ (CBI) รายงานว่า ดุลยอดสั่งซื้อของภาคโรงงานอังกฤษดิ่งลงจาก -6 ในเดือนธ.ค. สู่ -17 ในเดือนม.ค. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2021 ถึงแม้แรงกดดันด้านต้นทุนผ่อนคลายลง ส่วนดุลราคาสำหรับช่วง 3 เดือนข้างหน้าดิ่งลงจาก +52 ในเดือนธ.ค. สู่ +41 ในเดือนม.ค. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2021 ทั้งนี้ สถานการณ์เหล่านี้จะส่งผลให้บีโออีเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบาก ในขณะที่บีโออีต้องรับมือกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นตัวเลขสองหลัก และค่าแรงในภาคเอกชนที่พุ่งขึ้นครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ แต่บีโออีไม่ต้องการจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเกินไป เพราะการทำเช่นนั้นอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจอังกฤษตกต่ำลงอย่างรุนแรง

  • บีโออีได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับ 0.1% ในเดือนธ.ค. 2021 สู่ 3.5% ในปัจจุบัน ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์กว่า 2 ใน 3 ในโพลล์รอยเตอร์คาดว่า บีโออีจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% สู่ 4% ในวันที่ 2 ก.พ. และโพลล์คาดว่าอัตราดอกเบี้ยขั้นสุดท้ายของวัฏจักรอาจจะอยู่ที่ 4.25% ทางด้านนักลงทุนในตลาดการเงินคาดว่า บีโออีอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนแตะระดับ 4.5% ก่อนที่จะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในฤดูร้อนปีนี้ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์บางรายคาดว่า บีโออีอาจจะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ หลังจากสมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (MPC) ของบีโออีแสดงความเห็นแตกต่างจากกันในช่วงที่ผ่านมา โดยนางซิลวานา เทนเรย์โร และนางสวาติ ดิงกรา สมาชิก MPC 2 คน ได้โหวตให้บีโออีคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมในเดือนธ.ค. และทั้งสองให้เหตุผลว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่ "มากเกินพอแล้ว" สำหรับการทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงสู่ระดับเป้าหมายที่ 2%

  • นางอลิซาเบธ มาร์ตินส์ และนายไซมอน เวลส์ ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร HSBC ทั้งสองคนคาดการณ์ในสัปดาห์นี้ว่า บีโออีจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% สู่ 3.75% ในวันที่ 2 ก.พ. ซึ่งจะถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายของวัฏจักร ซึ่งต่ำกว่าระดับอัตราดอกเบี้ยขั้นสุดท้ายที่ 4.50% ที่ตลาดคาดการณ์ไว้เป็นอย่างมาก โดยทั้งสองให้เหตุผลว่า ผู้กำหนดนโยบายของบีโออีกำลังจะปรับเปลี่ยนความเห็นของตนเอง ในขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีที่แล้วส่งผลกระทบอย่างเชื่องช้า และรายงานคาดการณ์ของบีโออีก็แสดงให้เห็นแล้วว่า อัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงสู่ระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมายเป็นอย่างมากในอีก 2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ทั้งสองระบุว่า "การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่ใช้เวลานานและใช้เวลาแตกต่างกันไปในการส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ก็เพิ่งจะเริ่มส่งผลกระทบ" โดยการคาดการณ์ของทั้งสองได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอในอังกฤษ และจากการที่รัฐบาลอังกฤษกู้เงินสูงมากในเดือนธ.ค. โดยรายงานที่ออกมาในวันอังคารระบุว่า ยอดการกู้ยืมเงินสุทธิในภาครัฐบาลอังกฤษยกเว้นธนาคารของรัฐบาล อยู่ที่ 2.74 หมื่นล้านปอนด์ (3.397 หมื่นล้านดอลลาร์) ในเดือนธ.ค. โดยพุ่งขึ้นจาก 1.07 หมื่นล้านปอนด์ในเดือนธ.ค. 2021 และถือเป็นการทำสถิติยอดการกู้ยืมเงินที่สูงที่สุดสำหรับเดือนธ.ค.นับตั้งแต่เริ่มมีการจัดทำตัวเลขนี้เมื่อ 30 ปีก่อนเป็นต้นมา โดยยอดการกู้เงินนี้ได้รับแรงหนุนจากมาตรการของรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือด้านพลังงานและการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับสูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้