ReutersReuters

ตลาดน้ำมันนิวยอร์ค:แนวโน้มอุปสงค์จีนหนุนน้ำมันดิบปิดพุ่งขึ้น 1.2%

นิวยอร์ค--23 ม.ค.--รอยเตอร์

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX พุ่งขึ้นในวันศุกร์ ในขณะที่เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มสดใสขึ้น และปัจจัยดังกล่าวช่วยกระตุ้นการคาดการณ์ที่ว่า อุปสงค์เชื้อเพลิงในจีนอาจจะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ระบุในรายงานรายเดือนในวันอังคารที่ผ่านมาว่า อุปสงค์น้ำมันในจีนอาจเพิ่มขึ้น 510,000 บาร์เรลต่อวันในปีนี้ ส่วนองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุในวันพุธว่า การที่จีนยกเลิกมาตรการควบคุมโรคน่าจะส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกพุ่งขึ้นสู่สถิติสูงสุดใหม่ในปีนี้

  • ราคาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนก.พ.ทะยานขึ้น 98 เซนต์ หรือ 1.2% มาปิดตลาดที่ 81.31 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมี.ค.ที่ตลาดกรุงลอนดอนพุ่งขึ้น 1.47 ดอลลาร์ หรือ 1.7% มาปิดตลาดที่ 87.63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบสหรัฐปิดตลาดสัปดาห์นี้ด้วยการพุ่งขึ้น 1.8% จากสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปิดตลาดสัปดาห์นี้ด้วยการทะยานขึ้น 2.8% จากสัปดาห์ที่แล้ว

  • ราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอความเร็วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มที่สดใสขึ้น โดยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ในผลสำรวจของรอยเตอร์คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ในการประชุมแต่ละครั้งในอีก 2 ครั้งต่อไป และหลังจากนั้นเฟดก็อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้ ทางด้านนักลงทุนในตลาดสัญญาล่วงหน้าคาดว่า มีโอกาส 97.9% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. และมีโอกาสเพียง 2.1% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ 4.75-5.00% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. ทั้งนี้ นางลาเอล เบรนาร์ด รองประธานเฟดกล่าวในวันพฤหัสบดีว่า มีโอกาสเพิ่มมากขึ้นที่เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป

  • ราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนเพิ่มเติม หลังจากบริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์สรายงานในวันศุกร์ว่า จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐดิ่งลง 10 แท่น สู่ 613 แท่นในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ม.ค. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2022 ทั้งนี้ นายเอ็ดเวิร์ด โมยา นักวิเคราะห์ตลาดของบริษัท OANDA กล่าวว่า สหรัฐกับจีนซึ่งถือเป็น 2 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกต้องการน้ำมันดิบเพิ่มเติมในช่วงนี้ และเขากล่าวเสริมว่า "ราคาน้ำมันร่วงลงในช่วงที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย แต่ยังคงมีสัญญาณบ่งชี้ว่า ตลาดน้ำมันอาจจะยังคงอยู่ในภาวะตึงตัวต่อไปเป็นเวลานานระยะหนึ่ง"

  • นายแอนดี ลิพาว ประธานบริษัทลิพาว ออยล์ แอสโซซิเอทส์กล่าวว่า การที่คลังสำรองปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของสหรัฐชะลอการขายน้ำมันออกมา เป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนราคาน้ำมัน และส่งผลให้ราคาน้ำมันไม่ได้รับแรงกดดันมากนัก ถึงแม้สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) รายงานในวันพฤหัสบดีว่า สต็อกน้ำมันดิบในคลังสหรัฐพุ่งขึ้น 8.4 ล้านบาร์เรล สู่ 448 ล้านบาร์เรลในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 ม.ค. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2021 ทั้งนี้ นายจิม ริทเทอร์บุช จากบริษัทริทเทอร์บุช แอนด์ แอสโซซิเอทส์กล่าวว่า ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนในช่วงนี้จากมาตรการจำกัดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียด้วย โดยเขากล่าวเสริมว่า "มาตรการจำกัดเพดานราคาและมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันดิบรัสเซียจะค่อย ๆ ส่งผลกระทบมากยิ่งขึ้นต่อราคาน้ำมัน และจะส่งผลบวกต่อราคาน้ำมันมากยิ่งขึ้น เมื่อตลาดน้ำมันโลกได้ดูดซับน้ำมันดิบที่รัสเซียส่งออกในเดือนธ.ค.ไปแล้ว" โดยรัสเซียครองตำแหน่งประเทศที่ส่งออกน้ำมันดิบให้แก่จีนมากเป็นอันดับสองในปี 2022 ส่วนซาอุดิอาระเบียครองอันดับหนึ่ง--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้